มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมในอังกฤษค้นพบส่วนหนึ่งของสำเนาคัมภีร์อัลกุรอานที่เชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดในโลก โดยมันหลับใหลอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย โดยไม่มีใครสนใจนานเกือบศตวรรษ…
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมค้นพบส่วนหนึ่งของสำเนาคัมภีร์อัลกุรอานเขียนด้วยมือ ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีอายุอย่างน้อย 1,370 ปี โดยมันถูกพบปะปนอยู่ในกลุ่มหนังสือและเอกสารจากตะวันออกกลาง ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้มานานเกือบ 100 ปี แต่ไม่ได้รับความสนใจจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้
สำเนาคัมภีร์อัลกุรอานที่พบนี้ เป็นตัวหนังสือที่เขียนด้วยมือเป็นภาษาอาหรับฮิญาซี ซึ่งเป็นภาษาเขียนก่อนจะกลายเป็นภาษาอาราบิก ลงบนหนังแกะหรือแพะจำนวน 2 แผ่น โดยผลการทดสอบความเก่าแก่ของต้นฉบับนี้ด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอน (คาร์บอน-14) ของทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด พบว่า มันมีอายุระหว่างปี ค.ศ. 568-645
สำเนาคัมภีร์อัลกุรอานที่เชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดในโลก (ภาพ: REUTERS)
ศ.เดวิด โธมัส ศาสตราจารย์ด้านศาสนาคริสต์และอิสลามมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม กล่าวว่า การค้นพบนี้อาจทำให้ช่วงเวลาของการกำเนิดของศาสนาอิสลามถอยหลังไปหลายปี เนื่องจากตามความเชื่อของชาวมุสลิม พระเจ้าทรงมอบคัมภีร์อัลกุรอานแก่ศาสดามูฮัมหมัด ระหว่างปี 610-632 และเป็นไปได้ว่า ผู้เขียนคัมภีร์อัลกุรอานที่พบใหม่นี้ มีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกับศาสดามูฮัมหมัด หรือแม้กระทั่งรู้จักองค์ศาสดาด้วย
ขณะที่ ดร. มูฮัมหมัด อิซา วาลีย์ ผู้เชี่ยวชาญจากห้องสมุดของหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ กล่าวว่า สำเนาคัมภีร์อัลกุรอานนี้อาจอยู่ในยุคสมัยของกาหลิบ (ผู้นำศาสนาอิสลาม) 3 พระองค์แรก โดยพระองค์แรกคือกาหลิบ อะบู บักร์ เป็นผู้นำสังคมมุสลิมระหว่างปีค.ศ. 632-652 ขณะที่ในสมัยของกาหลิบอุษมัน อับนู อัฟฟาน กาหลิบพระองค์ที่ 3 เป็นช่วงที่มีการแจกจ่ายสำเนาของคัมภีร์อัลกุรอานฉบับสมบูรณ์
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมระบุว่าจะนำสำเนาคัมภีร์อัลกุรอานนี้ไปจัดแสดงต่อสาธารณะที่สถาบันบาร์เบอร์ ในเมืองเบอร์มิงแฮมในช่วงเดือนต.ค.นี้