เทศบาลตำบลเกาะเต่า เร่งเคลียร์ขยะล้นติดตั้งเครื่องแยกขยะสะสมกว่า 10,000 ตันคาดกำจัดขยะเก่า-รณรงค์ปลอดโฟมทั้งเกาะ 100% ได้ภายใน 2 ปี พร้อมแก้ปัญหาน้ำไม่พอใช้ ไฟเขียวเอกชนลงทุน “บริษัทเกาะเต่า วอเตอร์ฯ” คว้างานผลิตประปาระบบ RO จากน้ำทะเล
นายไชยยันต์ ธุระสกุล นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังเกาะเต่ามากขึ้น ทำให้ต้องเตรียมการด้านสาธารณูปโภครองรับการท่องเที่ยว รวมทั้งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาการกำจัดขยะและน้ำประปาที่เป็นปัญหามานานด้วย
ที่ผ่านมาขยะเกาะเต่าจะถูกนำไปทิ้งและเผาบนเขามากว่า 15 ปี ทำให้มีปริมาณขยะสะสมกว่า 10,000 ตัน ขณะเดียวกันก็มีขยะใหม่วันละ 15 ตัน เมื่อฝนตกจึงทำให้มีขยะและน้ำเสียซึมลงมายังด้านล่างส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง ล่าสุดเทศบาลได้รับงบประมาณ 13 ล้านบาท จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตั้งเครื่องสลัดร่อนขยะและซ่อมเตาเผา ทำให้การกำจัดขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“เบื้องต้นได้ติดตั้งเครื่องสลัดร่อนที่สามารถแยกขยะได้วันละ 60 ตัน เพื่อแยกขยะเก่าประเภทพลาสติกออกมาแปรสภาพเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนขยะอื่น ๆ ที่เหลือจะนำไปเข้าเตาเผา หรือทำปุ๋ยต่อไป คาดว่าจะสามารถกำจัดขยะเก่าได้ภายใน 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี แต่หากยังไม่สำเร็จ จะบรรทุกขยะออกนอกเกาะด้วยเรือบาสเพื่อกำจัดต่อไป” นายไชยยันต์กล่าวและว่า
นอกจากนี้ ยังพยายามลดปริมาณการใช้กล่องโฟมบนเกาะ โดยได้ดำเนินการมากว่า 2 ปีแล้ว สามารถลดการใช้กล่องโฟมได้ถึง 90% เหลืออีกประมาณ 10% ที่ยังลักลอบใช้อยู่ โดยได้ขอความร่วมมือจากชาวเกาะเต่า ผู้ประกอบการร้านค้าโรงแรม และเรือบรรทุกสินค้ามายังเกาะเต่าให้งดการบรรทุกบรรจุภัณฑ์จากโฟมมายังเกาะเต่า และจะมีกลุ่มทีมงานในพื้นที่ที่คอยกำกับดูแล คาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้ เกาะเต่าจะปลอดโฟมได้ครบ 100%
อีกปัญหาหนึ่งของเกาะเต่า คือ การขาดแคลนน้ำประปาอย่างมาก ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ใช้น้ำจากบ่อบาดาลลึกกว่า 30 เมตร ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีวันละ 3,000-4,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ทางเทศบาลจึงได้จัดหาเอกชนมาเป็นผู้ลงทุน คือ บริษัท เกาะเต่า วอเตอร์ จำกัด โดยจะผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล ใช้เทคโนโลยี RO จากประเทศอิสราเอลสามารถผลิตได้ประมาณวันละ 1,000 ลบ.ม.
นายไชยยันต์กล่าวว่า เอกชนจะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างนำเข้าอุปกรณ์มาจากประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ใช้สารเคมีในการทรีต แต่อาจมีน้ำเกลือเข้มข้นที่เหลือจากกระบวนการอยู่บ้าง มีความเข้มข้นประมาณ 3.2-3.5% ขณะที่น้ำทะเลจะมีความเข้มข้นของเกลือประมาณ 3% ซึ่งจะเจือจางลงบ้างเมื่อปล่อยลงสู่น้ำทะเลที่มีความลึก เบื้องต้นจึงคาดว่าไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิดควบคู่กันไป
ส่วนโครงการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในด้านอื่น ๆ นั้น ได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุราษฎร์ธานี และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี วางแผนก่อสร้างทางจักรยาน 2 จุด ที่บริเวณอ่าวจันทร์สม มายังหาดจุนเจือ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร และจากบริเวณลานหิน จปร.ซอย 1 ผ่านอ่างเก็บน้ำโตนด ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตรเช่นกัน
นอกจากนี้ ได้เตรียมวางทุ่นเรือสำหรับดำน้ำและเรือยนต์เพื่อรักษาแนวปะการัง เนื่องจากปัจจุบันเกาะเต่ามีเรือประมาณ 200 ลำ และมีอ่าวทั้งหมดประมาณ 10 อ่าว มีการทอดสมอวันละ 2,000 ครั้ง ส่งผลให้ปะการังได้รับความเสียหาย จึงต้องวางมาตรการเพื่ออนุรักษ์ปะการังที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเกาะเต่าด้วย