ที่มา: kapook

พูดถึงเรื่องการออกกำลังกาย คำถามหนึ่งที่เชื่อว่ายังคงเป็นที่สงสัยของคนจำนวนไม่น้อยก็คงหนีไม่พ้น ข้อสงสัยที่ว่า ช่วงเวลาไหนดีต่อการออกกำลังกาย จะเป็น เช้า กลางวัน หรือเย็น กันแน่ ?

บ้างก็บอกว่าตอนเช้าดีที่สุด บ้างก็บอกตอนบ่ายนี่ล่ะเป็นเวลาที่ร่างกายจะทำงานได้ดีที่สุด นี่ยังไม่รวมบทความอีกไม่น้อยที่ยืนยันว่าการออกกำลังกายตอนเย็นดีต่อสุขภาพ ทำให้ยิ่งอ่านก็ยิ่งงง สรุปว่าตอนไหนล่ะดีที่สุด วันนี้เรามาคลี่คลายให้กระจ่าง และนำข้อดีและข้อเสียของการออกกำลังกายในช่วงเวลาต่างๆ กัน

Woman Runner Yoga Stretching Manhattan Skyline Sunrise New York

การออกกำลังกายตอนเช้า ช่วงเวลาเช้าหรือหลังตื่นนอนเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังฟื้นตัวจากการพักผ่อนในช่วงเวลากลางคืน และหลายคนก็เลือกออกกำลังกายในช่วงเช้า เพราะสามารถทำเป็นกิจวัตรประจำวันได้ ซึ่งการออกกำลังกายในช่วงเช้ามีประโยชน์ดังนี้

ข้อดี 

  • ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญของร่างกายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ร่างกายสามารถเผาผลาญแคลอรี่ได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปได้ทั้งวัน
  • ช่วยกระตุ้นระบบการทำงานของหัวใจ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
  • ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และตื่นตัวพร้อมสำหรับการเริ่มต้นวันใหม่ เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นให้ระบบต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้น แถมยังช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นนั่นเอง
  • อากาศในช่วงเช้าจะสดชื่นและมีมลพิษน้อยกว่าในช่วงอื่นของวัน ทำให้ในการออกกำลังกายจะรับอากาศที่บริสุทธิ์กว่า อีกทั้งแสงแดดในตอนเช้ายังมีประโยชน์กับร่างกายอีกด้วย
  • มีสมาธิในการออกกำลังกายมากกว่าเพราะมีสิ่งรบกวนน้อย
  • สามารถออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอเมื่อเลือกเวลาเช้าเป็นเวลาออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะเป็นสิ่งแรกที่ทำในแต่ละวัน แตกต่างจากช่วงเวลาอื่นที่อาจจะมีกิจกรรมอื่น ๆ มาแทรกทำให้ไม่ออกกำลังกายได้

ข้อเสีย

  • ในการออกกำลังกายตอนเช้าหากพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะทำให้ยิ่งอ่อนเพลียยิ่งกว่าเดิม หรือไม่ก็จะทำให้การออกกำลังกายไม่ได้ประสิทธิภาพ เพราะออกกำลังกายเบาเกินไปเนื่องจากไม่มีแรง
  • ทำให้ตับทำงานอย่างหนักเพราะในช่วงการนอนหลับ ตับก็ยังคงทำงานอยู่ ทำให้เมื่อตื่นนอนเราจะไม่มีพลังงานเหลืออยู่ในหลอดเลือดเพียงพอสำหรับการออกกำลังกาย และตับก็จะต้องดึงสารอาหารที่เก็บสะสมไว้ออกมาใช้เป็นพลังงาน ทำให้ตับทำงานตลอดเวลาไม่มีการหยุดพัก
  • ในช่วงเช้า ร่างกายจะมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าปกติ ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดน้อย ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถออกกำลังกายได้เต็มที่
  • มีโอกาสบาดเจ็บได้มากกว่า เพราะในช่วงเช้าเป็นช่วงที่อุณหภูมิจะต่ำกว่าช่วงอื่นของวัน ทำให้อาจจะเกิดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อในขณะที่ออกกำลังกายได้

ข้อควรปฏิบัติในการออกกำลังกายตอนเช้า

  • รับประทานอาหารก่อนออกกำลังกายอย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานเพียงพอต่อการออกกำลังกาย
  • อบอุ่นร่างกายให้นานกว่าการออกกำลังกายในช่วงเวลาอื่น ๆ อย่างน้อย 10 – 15 นาที เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นมากพอสำหรับการออกกำลังกาย
  • ไม่ควรจะรีบรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำทันทีหลังจากออกกำลังกายหนัก เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการหายใจไม่ทัน หรือจุกได้
  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ในกรณีที่ป่วย ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายเพราะอาจจะทำให้หมดแรงได้

 

Swimmer performing the crawl stroke

การออกกำลังกายตอนกลางวันถึงบ่าย ช่วงกลางวันและช่วงบ่ายเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายทำงานอย่างเต็มที่ และอุณหภูมิในร่างกายจะเป็นปกติ การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายฟื้นตัวจากการพักผ่อนเรียบร้อยแล้ว แต่ข้อดีและข้อเสียของการออกกำลังกายมีอะไรบ้าง ..ไปดูกัน

ข้อดี

  • ร่างกายมีระดับฮอร์โมนและการไหลเวียนที่สูงกว่าในช่วงเช้าและอยู่ในระดับปกติ ทำให้สามารถออกกำลังกายได้มาก
  • ช่วยลดความอยากอาหารในมื้อกลางวันและมื้อเย็นได้ นอกจากนี้ยังไม่ทำให้กินจุบจิบอีกด้วย
  • ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นหลังจากการทำงานในช่วงเช้า ลดอาการง่วงเหงาหาวนอนในช่วงบ่ายได้ดี
  • ช่วยผ่อนคลายความเครียด
  • มีการศึกษาพบว่า ระบบการหายใจในช่วงบ่ายจะทำงานได้ดีกว่าในช่วงอื่น ๆ ของวัน
  • สามารถออกกำลังกายได้โดยไม่ต้องอบอุ่นร่างกายมาก เนื่องจากอุณหภูมิร่างกายอบอุ่นเพียงพอ และ ด็อกเตอร์ David W. Hill ได้เปิดเผยในบทความหนึ่งในวารสาร Ergonomics เมื่อปี 2007 ว่าในช่วงบ่ายของวัน ร่างกายจะมีความแข็งแรงและยืดมากขึ้นกว่าในช่วงเวลาอื่น 5% ทำให้เหมาะกับการออกกำลังกาย

ข้อเสีย

  • ถึงแม้ว่าในช่วงบ่ายระบบการหายใจจะดีกว่าช่วงอื่น แต่ในช่วงเที่ยง ระบบการหายใจจะทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจจะทำให้ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายลดลง 15 – 20 %
  • ในช่วงเที่ยงที่มีเวลาจำกัดจึงทำให้ออกกำลังกายได้ไม่เต็มที่ และในช่วงบ่ายอาจจะมีภารกิจที่เข้ามาแทรกทำให้การออกกำลังกายน้อยเกินกว่าที่ควรจะเป็น

ข้อควรปฏิบัติในการออกกำลังกายตอนกลางวันถึงบ่าย

  • จัดสรรเวลาให้ดีและมีเวลาการออกกำลังกายอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมงเผื่อการอบอุ่นร่างกาย
  • ควบคุมการรับประทานอาหารหลังจากออกกำลังกายให้ดีเพื่อไม่ให้ทานเยอะจนเกินไป

 

15 MTVOT1ZfMDcwLmpwZw==

การออกกำลังกายตอนเย็นถึงค่ำ การออกกำลังกายช่วงเวลาเย็นถึงค่ำ เป็นช่วงเวลายอดนิยมของคนทำงาน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาหลังจากการทำงาน ทำให้สามารถใช้เวลากับการออกกำลังกายได้เต็มที่ แต่การออกกำลังกายในช่วงเวลานี้ก็มีข้อดี-ข้อเสียเช่นกัน

ข้อดี

  • โดยทั่วไปแล้วคนเราจะมีอุณหภูมิและฮอร์โมนในร่างกายสูงที่สุดก็ในช่วง 18.00 น เป็นต้นไป ทำให้สามารถออกกำลังกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
  • ความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บน้อย เนื่องจากอุณหภูมิในร่างกายเป็นปกติ
  • มีพลังงานในการออกกำลังกายมากกว่าช่วงอื่น ๆ เนื่องจากในช่วงเวลาระหว่างวัน เราได้รับประทานอาหารเข้าไปอย่างเพียงพอแล้ว
  • ช่วยผ่อนคลายความเครียด และลดอาการเมื่อยล้าจากการทำงาน เพราะการออกกำลังกายในช่วงเย็นจะช่วยกระตุ้นการทำงานของร่างกาย จึงจะทำให้รู้สึกสดชื่นมากขึ้นหลังจากออกกำลังกาย
  • ช่วยลดความอยากอาหารในมื้อเย็นได้ ทำให้ไม่รับประทานมากจนเกินไปในช่วงเย็น

ข้อเสีย

  • การออกกำลังกายในช่วงนี้จะทำให้ร่างกายตื่นตัวและทำให้นอนหลับได้ยาก และนอนหลับได้ไม่สนิทหากนอนทันทีหลังจากออกกำลังกาย ส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนและนาฬิกาชีวิต
  • หากออกกกำลังกายในช่วงค่ำ สถานที่ในการออกกำลังจะจำกัดลง และอาจจะต้องออกกำลังกายในร่มแทน เพราะหากออกกำลังกายนอกสถานที่จะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงได้
  • ร่างกายจะเผาผลาญไขมันสะสมได้ช้า เพราะพลังงานทั้งหมดที่จะต้องใช้ในการเผาผลาญไขมันจะถูกใช้ไปกับการออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายจะต้องใช้เวลานานขึ้นในการเผาผลาญให้ถึงระดับของไขมันสะสม

ข้อควรปฏิบัติในการออกกำลังกายตอนเย็นถึงค่ำ

  • เพื่อให้การออกกำลังกายในช่วงเย็นถึงค่ำได้ผลดียิ่งขึ้น ในขณะออกกำลังกายและหลังจากออกกำลังกายควรดื่มน้ำอุณหภูมิห้องเพื่อปรับอุณหภูมิในร่างกายเป็นปกติ เพราะถ้าหากดื่มน้ำเย็นอุณหภูมิร่างกายจะปรับลดเร็วจนเกินไป ทำให้ร่างกายทำงานหนัก และเสียเหงื่อมาก อาจทำให้เป็นไข้ได้
  • ไม่ควรรับประทานอาหารก่อนออกกำลังกาย แต่ถ้าหากกลัวหมดแรงก็ควรรับประทานรับประทานเป็นผลไม้แทน
  • หลังจากออกกำลังกายแล้ว ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 4 – 6 ชั่วโมง ก่อนเข้านอน เพื่อให้ร่างกายปรับสมดุลได้ และจะทำให้หลับได้สนิทมากขึ้น ส่งผลให้ตื่นขึ้นมาในวันรุ่งขึ้นอย่างสดชื่น

 

สรุป…แล้วออกกำลังกายเวลาไหนดีที่สุด ?

ในการออกกำลังกายแต่ละช่วงเวลาก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะออกกำลังกายเวลาไหนก็มีประโยชน์ทั้งนั้น เพราะแค่เพียงเราออกกำลังกายก็ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงได้แล้ว ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือควรจะเลือกเวลาที่สะดวกและเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด เพื่อที่จะได้ออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เราสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนมากกว่า แต่ก็ไม่ควรจะหักโหมเกินไป

หากช่วงไหนที่กำลังป่วยอยู่ ควรจะลดความหนักหน่วงของการออกกำลังกาย หรืองดไปเลยจนกว่าจะหายดี ส่วนคนที่ไม่มีเวลาแน่นอนก็ใช่ว่าจะพาลไม่ออกกำลังกายไปเลยนะ หากมีเวลาเมื่อไรก็ควรจะลุกขึ้นมาขยับร่างกาย หรือออกกำลังกายให้ได้มากที่สุด ก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรงได้เช่นกัน

เรื่องน่าสนใจ