ที่มา: Matichon Online

เมื่อวันที่ 26 มกราคม ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่โฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก สรรพคุณว่ารักษาโรคต้อหิน ต้อเนื้อ ต้อลม ต้อกระจก วุ้นในตาเสื่อม และโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับสายตา โดยมีการแสดงเลข อย.เพื่อเป็นการการันตีความปลอดภัยนั้นว่า ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย แจ้งมาทาง อย.เกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีข้อเท็จจริงประการใด ซึ่งในเบื้องต้นหากเลขทะเบียน อย.เป็นเลขทะเบียนสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจริง ก็ถือว่ามีความผิดทันที เนื่องจากหากเป็นอาหารเสริมก็ไม่สามารถโฆษณาว่าเป็นยารักษาโรคได้ มีความผิดฐานโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต 

Woman eyes

ภก.ประพนธ์กล่าวต่อว่า หากผิดจริงขั้นตอนจากนี้จะมีการสั่งผู้ประกอบการนั้นๆ เพิกถอนโฆษณา และแจ้งดำเนินคดีฐานโฆษณาเท็จ ซึ่งหากต่อมาทางผู้ประกอบการยังไม่เพิกถอนโฆษณาก็จะมีการดูว่าโฆษณาผ่านสื่อใด ก่อนแจ้งไปยังหน่วยงานที่ควบคุมดูแลสื่อนั้นให้ทำการเพิกถอนโฆษณา เช่น หากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นผู้กำกับดูแลสื่อนั้นก็จะแจ้งให้เพิกถอนโฆษณา ทั้งนี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร เพราะการจะเพิกถอนได้ต้องอาศัยอำนาจของศาลในการดำเนินการ

ภก.ประพนธ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของเลขทะเบียน อย.สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ถูกโฆษณาว่าเป็นยารักษาโรคนั้น อาจจะมีการเพิกถอนทะเบียนดังกล่าวได้ โดยคณะกรรมการต้องทำการตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดซ้ำซากหรือไม่ ฝ่าฝืนมาทั้งหมดกี่ครั้ง โดยมิได้มีหลักเกณฑ์ตายตัวว่าต้องกระทำผิดกี่ครั้งจึงจะเพิกถอน แต่ต้องดูเป็นกรณีไปว่ากระทำความผิดร้ายแรงหรือไม่ บางรายกระทำความผิดแตโทษไม่ร้ายแรงมากก็อาจจะแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อที่จะยังไม่เพิกถอนเลขทะเบียน แต่บางกรณีถือเป็นการกระทำความผิดร้ายแรงก็จะมีการเพิกถอนเลขทะเบียนทันที เช่นในกรณีนี้เป็นการโฆษณาอาหารเสริมว่าเป็นยารักษาโรคถือว่ากระทำผิดร้ายแรง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการว่าจะเพิกถอนเลยหรือไม่ อย่างไรก็ตามฝากเตือนไปยังประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อโฆษณาต่างๆ ตามโซเชียลเน็ตเวิร์ก ขอให้ตรวจสอบให้ดีก่อนว่าเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนเอง

นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่จริง เพราะกรณีวุ้นในตานั้นเป็นเส้นโปรตีนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อาจจะหายไปได้เองหรือไม่หายไปก็ไม่เป็นอะไร ไม่จำเป็นต้องรักษา

ส่วนที่บอกว่ารักษาต้อลมนั้น ข้อเท็จจริงน้นต้อลมเป็นภาวะเยื่อตาอักเสบไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา อาจจะแค่หยอดยาก็จะหายได้ เมื่ออักเสบก็จะเกิดต้อลมขึ้นอีกเป็นระบบตามธรรมชาติ สำหรับการโฆษณาดังกล่าวถือเป็นการโฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงประชาชน ผิดจรรยาบรรณ ซึ่งทางราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ดำเนินการในกรณีดังกล่าวแล้ว

เรื่องน่าสนใจ