ไม่ว่าใครก็ย่อมปรารถนาการมีสุขภาพแข็งแรง ไร้โรคภัยไข้เจ็บ แต่คนเราเลือกเกิดไม่ได้ มีผู้คนมากมายที่ต้องทุกข์ทรมานจากโรคที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต

 โรคเหล่านี้ในหลายกรณีเป็นโรคร้ายแรง เรื้อรัง และต้องใช้เวลารักษายาวนาน ดังนั้น บริการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า มีประสิทธิภาพ และประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ จึงเป็นดั่งความหวังของผู้ป่วยเหล่านี้

11

เรวดี คูรัตน์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำมาตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากโรคประจำตัวที่รุมเร้าอยู่หลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ หมอนรองกระดูกเคลื่อน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ทั้งยังเคยผ่านการผ่าตัดมาแล้วถึง 14 ครั้ง

“ดิฉันเคยผ่าตัดครั้งแรกตอนอายุประมาณ 25 ปี เพราะเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจนหายเป็นปกติ แต่พอกลับไปทำธุรกิจค้าขายข้าวซึ่งต้องออกแรงยกของอยู่เป็นประจำ ทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนอีกครั้ง

คราวนี้รู้สึกปวดจนเดินไม่ได้ จึงต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นานก็ประสบอุบัติเหตุลื่นหกล้มจนหมอนรองกระดูกเคลื่อน ทำให้ยืนและเดินไม่ได้ ก็ต้องกลับมารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกเช่นเคย โดยได้รับการรักษาหลายวิธี

เช่น ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นขา รักษาทางกายภาพ แต่หมอนรองกระดูกของดิฉันหมดสภาพแล้ว จึงต้องใช้วิธีสุดท้ายคือการผ่าตัดเลาะหมอนรองกระดูกออกแล้วทำกายภาพบำบัด ซึ่งตอนนั้นรู้สึกทรมานมาก เพราะลงน้ำหนักที่เท้าไม่ได้เลยจะรู้สึกปวดหัวมาก ดิฉันต้องนั่งรถเข็นอยู่ประมาณ 3 เดือน และต้องพยายามอดทนทำกายภาพบำบัดไปเรื่อยๆ จนอาการค่อยๆ ดีขึ้น”

แต่ความทุกข์ทรมานจากโรคภัยยังไม่หมดเพียงเท่านี้ หากยังมีอีกโรคหนึ่งที่คุกคามชีวิตของคุณเรวดีมาตั้งแต่วัยเด็ก คือ โรคหัวใจ เธอรู้ว่าตนเองเป็นโรคนี้เมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในต่างจังหวัดสมัยนั้นยังไม่เจริญนัก จึงไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเป็นโรคหัวใจชนิดใด

แม้เธอจะทำการรักษาอยู่ประมาณ 5-6 ปีก็ไม่ดีขึ้น ผลของโรคนี้ทำให้เธอเหนื่อยง่าย ไม่มีแรง นอนราบไม่ได้เพราะทำให้หายใจไม่สะดวก หลายครั้งอาการทรุดจนต้องเข้าห้องฉุกเฉิน ซึ่งในขณะนั้นมีเพียงสามีของเธอ คือ คุณคารม คูรัตน์ ที่เป็นผู้คอยดูแลอยู่ไม่ห่าง

เหตุการณ์ต่างๆ ดูจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เมื่อคุณเรวดีต้องประสบกับปัญหาใหญ่ คือกล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้เพียง 30% “ตอนนั้นล้มสลบไปเลย ต้องปั๊มหัวใจ รีบย้ายจากห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่างจังหวัดเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

คุณหมอบอกว่าต้องฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ ถ้าไม่มีเครื่องนี้ เดินไปแค่ 5 เมตรก็หมดแรงแล้ว” คำพูดเพียงสั้นๆ แต่รับรู้ได้ถึงความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานที่แฝงอยู่ในจิตใจของหญิงสาวผู้นี้ สะท้อนให้เห็นภาพความลำบากในการดำเนินชีวิตแต่เธอก็ไม่เคยย่อท้อต่อโชคชะตา

นอกจากนี้ คุณเรวดียังเคยเข้ารับการผ่าตัดอีกหลายครั้ง อาทิ เนื้องอกที่มดลูก ผ่าตัดไส้ติ่ง ซีสต์ที่หน้าอก (2 ครั้ง) ผ่าตัดจากอุบัติเหตุแขนหัก และข้อนิ้วติดกัน (นิ้วล็อค) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ท่ามกลางโรคภัยไข้เจ็บที่รุมเร้า หลายคนคิดว่าเธอไม่น่าจะมีชีวิตรอด

แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถช่วยพลิกชีวิตของคุณเรวดีให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวที่เธอรักได้อีกครั้ง เธออาจยังพอมีโชคอยู่บ้างที่มีกำลังทรัพย์เพียงพอสำหรับค่ารักษา จากเดิมที่เป็นเพียงผู้ประกอบกิจการค้าขายเล็กๆ มีฐานะปานกลาง

ทุกวันนี้คุณเรวดีมีฐานะที่มั่นคงขึ้นกว่าเดิม ทำให้เธอรู้สึกเห็นใจผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่มีความพร้อมน้อยกว่า จึงตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ทางโรงพยาบาล เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยโดยรวม เมื่อครั้งที่เป็นผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจ เธอได้บริจาคเงินสมทบทุนสร้างห้องผ่าตัดหัวใจให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี

หลังจากนั้นยังได้บริจาคสมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ มาอย่างต่อเนื่อง “ที่นี่เหมือนเป็นบ้านของฉัน เพราะมารักษาบ่อย ตอนนอนรักษาที่โรงพยาบาลเราได้เห็นความลำบากต่างๆ ทั้งของผู้ป่วยและญาติที่มาเฝ้า บางคนต้องมาจองคิวตั้งแต่ตี 4 ตี 5 นั่งรอกันตามขั้นบันได เห็นแล้วฉันก็คิดว่าถ้ามีอะไรที่ฉันพอจะช่วยได้ ฉันก็จะช่วยอย่างแน่นอน”

การเป็นทั้งคนไข้และผู้บริจาค ทำให้คุณเรวดีซึ่งปัจจุบันอายุ 63 ปีแล้ว เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคณะแพทย์ พยาบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ เป็นอย่างดี

“ฉันคิดว่าที่ฉันอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะทีมแพทย์ พยาบาลของโรงพยาบาลรามาธิบดี และสามี ฉันตั้งใจไว้ว่าฉันจะเป็น ‘ผู้ให้’ ไปตลอดตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ คำขวัญของมูลนิธิรามาธิบดีฯที่ว่า คำว่า ให้…ไม่สิ้นสุด เป็นคำที่ซึ้งใจมากสำหรับฉัน เพราะที่นี่ให้ฉันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ฉันจึงอยากทำอะไรเพื่อตอบแทนให้กับมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพราะเงินที่เราบริจาคก็จะกลับมาช่วยเหลือผู้ป่วยนั่นเอง”

ผู้สนใจร่วมบริจาคสามารถโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดีฯ (โครงการผู้ป่วยยากไร้) ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีออมทรัพย์สาขารามาธิบดี เลขที่ 026-4-26671-5 ,ธนาคารกรุงเทพ  บัญชีออมทรัพย์สาขารามาธิบดี (อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์)  เลขที่ 090-7-00123-4 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิรามาธิบดีฯ 270 ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 

ที่มา www.dodeden.com 

เรื่องน่าสนใจ