ที่มา: dodeden

กลายเป็นซีรีส์ที่ทำให้บรรดาผู้เป็นแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษน้ำตาไหลพรากไปตามๆ กันสำหรับ “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” ซีรีส์กีฬาแบดมินตันที่โยงใยความสัมพันธ์คู่พี่น้อง

ระหว่าง พี่ยิม (ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร) กับ น้องโด่ง (สกาย-วงศ์รวี นทีธร) และเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่รวมไปถึง “แม่ตั้ม” (เปิ้ล-หัทยา วงษ์กระจ่าง) และ “แม่แตง” (สู่ขวัญ บูลกุล) ที่ถ่ายทอดชีวิตของแม่ และที่มีลูกเป็นเด็กออทิสติกออกมาในอีกแง่มุม ซึ่งมันมีภาวะเก็บกด อาการเศร้า กระทั่งพัฒนาไปถึงภาวะซึมเศร้าในแม่ที่มีลูกเป็นเด็กออทิสติก

สำหรับ สู่ขวัญ ในบทของ “แม่แตง”กล่าวยอมรับในบทบาทแม่ว่า “น้ำตาไหลตั้งแต่วันที่ผู้กำกับมาเล่าเรื่องให้ฟัง เรียกว่าสะอื้นจนต้องคว้าทิชชู่มาซับๆ ฟังเรื่องไปก็ร้องไห้ไป ก็เลยมีความรู้สึกว่าถ้าเราอินขนาดนี้ เราเข้าใจหัวอกของแม่เด็กพิเศษเลย ก็บอกผู้กำกับเลยว่าพี่เล่นแน่นอน ตั้งแต่วันแรกที่ได้เวิร์กช็อปกับน้องต่อ รู้สึกได้เลยว่าต่อคือนักแสดงมืออาชีพจริงๆ

ทุกๆฉากที่ต้องเล่นด้วยกัน คือเราไม่กลัวที่ต้องเข้าบทกับเขาเลย พอต่อเข้าคาแร็กเตอร์ปุ๊บ สายตาที่เห็นไม่ใช่ต่อ-ธนภพที่เรารู้จัก แต่กลายเป็นพี่ยิม เด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ทำให้เรากลายเป็นน้าแตงได้ทันที 

ตอนถ่ายทำมีฉากหนึ่งที่ประทับใจมาก เป็นตอนที่พี่ยิมกำลังโวยวาย ความรู้สึกของเราตอนนั้นคืออยากกระโดดเข้าไปปกป้องเขา น้ำตามันไหลออกมา ด้วยความเป็นห่วงเขาจริงๆ รู้สึกเหมือนเราคือครอบครัวเดียวกัน

ส่วนมาเล่นเป็นแม่ลูกกับสกาย ถือเป็นบทที่ท้าทายมากค่ะ มันมีความซับซ้อนของคำว่าแม่ลูก ที่ไม่ใช่แค่แม่รักลูก แต่มีคาแร็กเตอร์ของตัวละครที่ต้องพัฒนาไปด้วยกัน ซึ่งต้องยอมรับเลยว่า แต่ละซีนที่สกายต้องเจอมีแต่ความกดดัน เก็บกดเหมือนจะระเบิดออกมา

อย่างฉากที่เสียใจสุดๆ ไม่ใช่แค่อารมณ์โมโห แต่มันเกิดจากความรู้สึกน้อยใจ เสียใจลึกๆข้างใน ไหนจะแม่ ไหนจะพี่ ไหนจะป้า รับมาจากทุกทาง

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า ในชีวิตจริงๆ ก็คล้ายๆ ละคร ซึ่งช่วงวันเทศกาลวันแม่วันหยุดยาวสามวันนี้  ที่สถาบันราชานุกูล จัดงาน  “มอบความสุขนี้ให้แม่ : Happiness  for  Mom ” เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2560

โดยมี แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล เป็นเจ้าภาพ เพื่อให้ลูกๆ ที่บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้เป็นแม่ พร้อมกันนี้ ได้เผยถึงผลการวิจัยการใช้โปรแกรมช่วยเหลือมารดาที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดว่าได้ผล ภาวะซึมเศร้าลดน้อยลง

ชีวิตจริงๆ ของพ่อแม่ ณ สถาบันราชานุกูล

สำหรับ การฝึกฝนให้เด็กคนหนึ่งช่วยเหลือตัวเองได้ อยู่ในระเบียบวินัย และสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ เป็นภารกิจสำคัญของพ่อแม่ทุกคน แต่การฝึกสิ่งเหล่านี้ในเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

ผู้เป็นแม่จึงต้องอดทนและเสียสละอย่างมาก จนบางครั้งแทบไม่มีเวลาสำหรับดูแลตัวเอง เพื่อต้องการเห็นลูกก้าวเดินไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเองตามศักยภาพและสามารถอยู่ในสังคมนี้ได้ต่อไป แม่ของเด็กกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ จึงควรได้รับการยกย่อง

ตลอดจนการได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการดำเนินชีวิตที่ต้องต่อสู้เพื่อคนที่รักที่สุด ความอดทนที่ต้องอดทนต่อสภาพปัญหาในครอบครัวและสังคม

ดังนั้น จึงอยากวิงวอนให้ทุกครอบครัวที่มีลูกหลานเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษช่วยกันดูแลจิตใจซึ่งกันและกันและประคับประคองกันไป เพื่อให้ปัญหาที่หนักเป็นเบาได้ ส่วนที่เกี่ยวข้องทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ก็ควรสนับสนุนและให้ความเข้าใจเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน

 

สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือจากคนใกล้ชิด ทั้งจาก พ่อ แม่ และสามีที่ต้องคอยให้กำลังใจว่า ภาวะที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความอ่อนแอ ภาวะนี้สามารถพบได้และจะหายไป ซึ่งคุณพ่อควรผลัดเปลี่ยนกันดูแลลูก เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อน ลดปัญหาการนอนไม่หลับ อย่าตำหนิ หรือโมโห เวลาคุณแม่แสดงอารมณ์แปลกๆ ขึ้นๆ ลงๆ

อย่าปล่อยให้เลี้ยงลูกคนเดียว ต้องช่วยกัน สนับสนุนกัน เป็นกำลังใจให้กัน อดทนและเข้าใจกัน รวมทั้งควรกระตุ้นให้ได้ทำกิจกรรมต่างๆ พาไปออกกำลังกายเบาๆ  ให้คำชม และอาจพาเข้ากลุ่มบำบัด ได้เจอกับครอบครัวอื่นที่เผชิญปัญหาเช่นเดียวกันนี้และผ่านไปได้ ฯลฯ  

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์  ได้ดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาและทดสอบคุณภาพโปรแกรมช่วยเหลือมารดาที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดย พญ.วรวรรณ จงสง่าวิทยาเลิศ และคณะผู้ทำวิจัย ใช้ระยะเวลาในการวิจัย 3 ปี (พ.ศ. 2558 – 2560) ด้วยการพัฒนาโปรแกรมที่ดัดแปลงมาจาก THINKING HEALTHY: A manual for psychosocial management of perinatal depression (2) ของ WHO

เป็นรูปแบบการช่วยเหลือโดยการเยี่ยมบ้านที่สามารถทำได้โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวช ซึ่งงานวิจัยนี้ ศึกษาในหญิงหลังคลอด 1 เดือน ที่คัดกรองพบภาวะซึมเศร้า ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สระแก้ว กาญจนบุรี ขอนแก่น นครพนม เชียงใหม่ และกระบี่ เปรียบเทียบภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

รูปแบบการเลี้ยงดู และพัฒนาการเด็กระหว่างกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือตามโปรแกรมเป็นระยะเวลา 6 เดือนกับกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือตามระบบ ข้อมูลเบื้องต้น จากการคัดกรองหญิงหลังคลอด 1,198 คน พบ เสี่ยงภาวะซึมเศร้า 203 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.9 เมื่อได้รับการช่วยเหลือตามโปรแกรม

ซึ่งจะเป็นการเยี่ยมบ้าน ให้ความรู้ และแนวทางการปฏิบัติตน ตลอดจนทักษะต่างๆ ในการดูแลสุขภาพ การรู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง การสร้างความสัมพันธ์กับลูก และกับบุคคลรอบข้าง ซึ่งผลที่ได้ในภาพรวม พบว่า อาการซึมเศร้าของแม่หลังคลอด มีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลลงลึกในรายละเอียดต่างๆ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตสำหรับแม่และเด็กต่อไป 

ภาพจาก GDH

เรื่องน่าสนใจ