ใครที่รู้จักรายการ ‘ฮาจิเมเตะ โน โอซึไก’ หรือแปลง่ายๆว่า ภารกิจแรก ซึ่งเป็นรายการสารคดีกึ่งเกมโชว์ ที่ออกอากาศในญี่ปุ่นยาวนานกว่า 25 ปี ถ่ายทอดภารกิจนอกบ้านของเด็กเล็ก จะพบว่า พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นไว้ใจให้ลูกออกไปทำธุระนอกบ้านให้ตัวเอง ตั้งแต่อายุยังน้อย
หรือ แม้กระทั่ง การเห็นเด็กเล็กขึ้นรถไฟ รวมทั้งระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ หรือใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เพียงลำพัง โดยไร้เงาผู้ปกครองยืนประกบ ก็ถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไป ในสังคมญี่ปุ่น
สำนักข่าว CityLab ไปค้นหาที่มาของค่านิยมดังกล่าว และพบคำตอบว่า มันไม่ได้มาจากความเชื่อใจของพ่อแม่ ถึงความปลอดภัยของพื้นที่สาธารณะเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งที่ซ่อนอยู่อีกมากมาย เช่น ระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ
พ่อแม่หลายคนนิยมส่งลูกไปโรงเรียนถึงแค่สถานีรถไฟฟ้า ตั้งแต่อายุ 6 – 7 ขวบ และปล่อยให้ลูกเดินทางต่อด้วยตัวเอง เนื่องจาก พวกเขาสามารถวางแผนการเดินทางจากจุด A ไป จุด B ได้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และระบบเดินรถที่ตรงเวลา ก็ช่วยให้คำนวนเวลาได้แม่นยำ ส่วนกรณีที่ผิดแผนก็สามารถโทรศัพท์คุยกับผู้ปกครอง หรือ ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
หลายคนทราบดีว่า ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับมารยาทในพื้นที่สาธารณะ แต่ขณะเดียวกันคนญี่ปุ่นก็ถูกปลูกฝังตั้งแต่เรียนอนุบาลแล้วเช่นเดียวกันถึง “การพึ่งพากลุ่ม” เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดคิด เด็กๆก็จะกล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างทันที และคนรอบข้างก็ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือเต็มที่ ซึ่งถือเป็นมารยาทในการอยู่ร่วมกันในพื้นที่สาธารณะอีกอย่างหนึ่งนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการออกแบบเมือง เพื่อคนทุกกลุ่มในสังคม ตลอดจน การให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะ และทางเดินเท้า ที่มีผลต่อความปลอดภัย ในการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน ตลอดจน อัตราการก่ออาชญากรรมที่ต่ำมาก ยิ่งทำให้ผู้ปกครองญี่ปุ่นวางใจให้บุตรหลาน เดินทางในเมืองด้วยตัวเองอย่างลำพัง
เพราะฉะนั้น ภาพเด็กสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะโดยลำพัง จึงไม่ได้สะท้อนแค่ความกล้าหาญของเด็กและพ่อแม่ แต่คือดัชนีวัดความปลอดภัยของสังคม รวมทั้ง ระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ และ การออกแบบเมืองเพื่อการใช้งานของคนทุกกลุ่มในสังคม