นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ภาคประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้กองทุนสุขภาพรักษาพยาบาลของคนไทยก็ยังมีความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมอยู่ โดยเฉพาะสิทธิประกันสังคม เนื่องจากล่าสุดพบว่า มีผู้ป่วยที่ไปใช้สิทธิประกันสังคมรายหนึ่ง ไปด้วยอาการตากุ้งยิง
แต่ยังไม่ทันได้รับการตรวจวินิจฉัย แพทย์ผู้ทำการรักษากลับบอกว่า หากมีสิทธิประกันสังคมจะต้องไปตรวจกับแพทย์เวชกรรมทั่วไป แต่หากใช้สิทธิจ่ายเอง เพื่อเอาไปเบิกกับบริษัทที่ทำงานก็จะได้พบกับจักษุแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งประเด็นนี้ถามว่าควรเกิดขึ้นหรือไม่ เป็นความคิดและคำพูดที่ไม่ควรออกมาจากแพทย์
“เข้าใจว่าสิทธิประกันสังคมเป็นการเหมาจ่ายรายหัวให้โรงพยาบาลเอกชน หากต้องไปรักษากับแพทย์เฉพาะทางทั้งหมดก็อาจจะส่งผลต่อต้นทุน แต่ปัญหาคือ ทำไมไม่ตรวจรักษาเบื้องต้นก่อน และหากพบว่ามีความจำเป็นก็ต้องส่งตัว
แต่กรณีดังกล่าวยังไม่ทันตรวจ ซึ่งเชื่อว่ากรณีเช่นนี้ไม่ได้มีแค่โรงพยาบาลเดียว แต่ยังมีอีกหลายแห่ง สิ่งที่เกิดขึ้นจึงสงสัยว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พยายามจะให้เกิดแพทย์ประจำบ้านขึ้น แต่หากความคิดของแพทย์ในปัจจุบันเป็นเช่นนี้ แพทย์ประจำบ้านที่จะเกิดขึ้นเพื่อคนในชุมชนจะมีจริงหรือไม่ คนจะหันไปเป็นแพทย์โรงพยาบาลเอกชนหรือไม่” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีหลายระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้การควบคุมระบบและควบคุมคุณภาพมาตรฐานเดียวค่อนข้างยาก ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรวมกองทุน แต่ถึงเวลาต้องบูรณาการสิทธิประโยชน์ ที่สำคัญต้องปรับเปลี่ยนความคิดของแพทย์รุ่นใหม่ๆ ให้คำนึงถึงคนไข้เป็นสำคัญ ไม่ใช่คำนึงถึงต้นทุนของโรงพยาบาล
เรื่องนี้ต้องมีการหารือในเรื่องการกำกับวิชาชีพ จรรยาบรรณ รวมทั้งมาตรฐานคุณภาพของโรงพยาบาลอย่างจริงจัง ซึ่งขณะนี้มีคณะกรรมการประสานงานกองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพที่มี นายอัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน และตนเป็นหนึ่งในกรรมการ โดยจะหยิบยกเรื่องนี้หารือเช่นกัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเรียกประชุมเลย
ที่มา manager