ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้ค้นพบสัญญาณการเกิดโรคพาร์กินสันเร็วขึ้น ขณะเดียวกันมีความก้าวหน้าการรักษา กรณีผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาแบบรับประทาน
ภาวะสั่น ยุกยิก เดิน เคลื่อนไหวร่างกายช้า อาการเด่นชัดของโรคพาร์กินสัน พบมากถึงร้อยละ 70 จากความเสื่อมของศูนย์ควบคุมการเคลื่อนไหวของสมอง ทำให้ไม่สามารถผลิตสารโดปามีน แต่แท้จริงแล้ว คนส่วนใหญ่อาจป่วยพาร์กินสัน แต่ไม่รู้ตัว
อาการบ่งชี้ใหม่ล่าสุด ของโรคพาร์กินสัน ที่อาจทำให้นำมาสู่การวินิฉัยโรคเร็วขึ้น พบว่า 4 อาการเหล่านี้ สัมพันธ์กับพาร์กินสัน ได้แก่ นอนละเมอ ท้องผูก ซึมเศร้า ดมกลิ่นไม่ได้ นับเป็นสัญญาณโรคใหม่ที่ไม่ควรมองข้าม
การรักษาโรคพาร์กินสันปัจจุบัน เน้นรักษาด้วยยา 3 กลุ่ม เป็นหลัก ทั้ง เสริม ลด และทดแทนสารโดปามีน ในสมองให้คงที่ สม่ำเสมอ โดยสิ่งสำคัญผู้ป้วยต้องทานยาตรงเวลา ขณะท้องว่าง เพื่อการดูดซึมที่ดี หากไม่ตอบสนองต่อยา จึงปรับมาเป็นการผ่าตัดสมอง กระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า และวิธีใหม่ให้ยาผ่านผิวหนังหน้าท้อง ให้นำสารตั้งต้นโดปามีนไปใช้ได้ทันที ในลักษณะคล้ายไซริ่งบรรจุ 20 ซีซี ทยอยให้ยาไหลผ่านสายยางสม่ำเสมอ ใช้เวลา 20ชั่วโมง ลดภาวะสั่น เกร็ง
ข้อมูลจากคลินิก โรคพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คาดการณ์ว่า ปัจจุบันประเทศไทย น่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 120,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของผู้สูงอายุ โดยขณะนี้พบผู้ป่วยอายุน้อยที่สุด 30 ปี การป้องกันที่ดีสุด ยังเป็นการออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายให้มากที่สุด ส่วนกีฬาที่เหมาะกับผู้ป่วย คือ กีฬาไทชิ เคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้า พร้อมปรับสมดุลจิตใจ