หลังจากกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันสนั่นโลกออนไลน์ ดราม่า #จงอย่าเรียนหมอ เพจ Drama-addict ได้แคปภาพจากทวิตเตอร์ของหมอคนหนึ่งที่ได้ทวีตข้อความว่า “ลดความเป็นหมอให้น้อยลง เพิ่มความเป็นคนให้มากขึ้น กูก็คนโว้ย เลิกมาหาตอนตี 3 ด้วยอาการไม่ฉุกเฉินได้แล้ว กูก็ต้องนอน!!!! #จงอย่าเรียนหมอ” จนกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกทวิตเตอร์
โดยแอดมินเพจ Drama-addict ได้อธิบายว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ใช้แรงงานทั้งหมอและพยาบาลอย่างหนัก อย่างเช่น หมอบางคนเข้าเวรดึกถึงเช้าก็ต้องมาเข้าเวรตอนเช้าต่อ ทำให้หมอและพยาบาลจะใช้เวลานอนพักผ่อนเวลาไม่มีเคสฉุกเฉิน แต่กลับพบว่ามีคนไข้ที่อาการเล็กน้อย
เช่น เจ็บคอ ท้องเสีย มาหาหมอตอนตี2 ตี3 เพื่อขอใบรับรองแพทย์ไปลางานตอนเช้า ทำให้หมอสติแตกกันมาเยอะแล้ว ไม่เหมือนกับในต่างประเทศที่คนไข้จะพบหมอได้ต้องมีอาการฉุกฉินจริง ๆ และระบบสามสิบบาทจะดีที่สุดคือ ประชาชนต้องดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง รู้ว่าโรคไหนควรมาโรงพยาบาลหรืออากาอย่างไรควรกินยาดูอาการไปก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแล
จากกรณีดังกล่าวนั้น ทำให้มีการหวั่นๆ ว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” ของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะต้องทำให้เสร็จภายในสงกรานต์ 2560 นี้ จะมีปัญหาใดๆ หรือไม่ ?
ทั้งนี้ นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( สบส. ) เปิดเผยกับ เว็บไซต์โดดเด่นดอทคอมว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” ทางกระทรวงสาธารณสุขขอยืนยันว่าเป็นนโยบายที่ดี และ เป็นความจริง ที่ต้องเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าภายในเดือนมีนาคม 2560 จะต้องเสร็จ และ ทันใช้ในช่วง เทศกาลสงกรานต์ 2560 นี้อย่างแน่นอน
สำหรับนโยบายฯ นี้ที่ผ่านมา ตนยอมรับว่าอาจจะมีปัญหาพอสมควร แต่การทำงานทุกอย่างต้องมีปัญหา แล้วค่อยๆ ดำเนินการแก้ไขไปให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบางคน หรือ ชาวบ้านฟังข่าวออกมาว่า หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน ใน 72 ชั่วโมงแรกจะเข้ารักษาในโรงพยาบาลไหนก็ได้ ไม่ว่าจะรัฐ หรือ เอกชน ซึ่งตรงนี้จะต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ต้องเป็นภาวะป่วยฉุกเฉินวิกฤติอันตรายถึงชีวิตจำเป็นต้องได้รับการดูแลเร่งด่วนจริงๆ จะมีการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยจะเข้าข่ายไหน หากไม่เข้าข่ายสีแดง ก็จะมีขั้นตอนดำเนินการต่อไป แต่แพทย์มีหน้าที่ตาม พรบ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 รักษาให้ผู้ป่วยพ้นอันตรายอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องกลัวการปฏิเสธรักษา
“การทำงานทุกอย่างต้องมีปัญหาบ้าง แต่ค่อยๆ แก้ไข เราก็เร่งทำให้ดีที่สุด ต้องเสร็จในเดือนนี้ แล้วประกาศใช้ ผมมั่นใจว่าประชาชนจะเข้าใจได้ดี แต่ไม่ใช่ว่าไปตีความ คำว่าป่วยฉุกเฉินวิกฤติอันตราย แบบผิดๆ เช่น ท้องร่วงท้องเสีย เป็นไข้หวัดตอนดึกๆ หรือ ฉุกเฉินอื่นๆ แต่ไม่เข้าข่ายถึงชีวิต แล้วไปหาหมอโรงพยาบาลเอกชนราคาแพงหรูใกล้บ้าน แบบนี้ไม่ได้”
สำหรับ ความชัดเจนเกี่ยวกับคำว่าป่วยฉุกเฉิน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ 3 สี ได้แก่1.สีแดงคือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติอันตรายถึงชีวิตจำเป็นต้องได้รับการดูแลเร่งด่วน 2.สีเหลือง และ3.สีเขียว โดยผู้ป่วยฉุกเฉินสีแดงจะได้รับการดูแลตามกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉิน โดยไม่มีการถามสิทธิ์ และไม่การปฏิเสธการรักษา มีการประเมินระดับความรุนแรงภายใน 15 นาทีหลังรับผู้ป่วย และแจ้งผลประเมินให้ผู้ป่วยและญาติได้ทราบ
ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะดูแลรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นจนพ้นวิกฤติ กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังป่วยหรือ 3 วันทำการ จากนั้นหากยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อ จะมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการดูแลตามสิทธิที่โรงพยาบาลต้นสังกัดจนหายป่วยอย่างต่อเนื่องต่อไป ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสีเหลืองและสีเขียว ซึ่งไม่ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ จะได้รับการแนะนำข้อมูลการรักษาต่อไป
ภาพจาก สพฉ.