นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยสุขภาพประชาชนและมีนโยบายขับเคลื่อนงานสุขภาพภาคประชาชน
โดยมอบให้กรมสบส.ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักดูแลอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ซึ่งเป็นกำลังหลักในการดูแลสุขภาพภาคประชาชน แต่ยังต้องขยายผลเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจุบันมี อสม. 1 ล้าน 4 หมื่นกว่าคน
ขณะที่มีคนไทย 60 กว่าล้านคนหรือประมาณ 12 ล้านครัวเรือน และจากข้อมูลด้านระบาดวิทยาพบว่าขณะนี้คนไทยป่วยเป็นโรคเรื้อรังเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยงและมีปัญหาแทรกซ้อนเป็นผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงอยู่จำนวนมาก และนับวันจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในอนาคตที่จะต้องวางระบบการป้องกันโรคให้เข้าถึงระดับบุคคลและครัวเรือน และดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า กรม สบส.ได้จัดโครงการสร้างบุคลากรระดับครอบครัวขึ้นเรียกว่าอาสาสมัครประจำครอบครัวหรือ อสค.สนองนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มุ่งหวังพัฒนาให้มี อสค.ครอบคลุมทุกครัวเรือนที่มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังในบ้าน
เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอื่นๆ หรือมีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ขาดโอกาสรับบริการ เพื่อให้อสค.มีความรู้เกี่ยวกับโรคนั้นๆสามารถทำหน้าที่ดูแลเบื้องต้นได้เช่นดูแลด้านการกินยา อาหารที่ถูกกับโรค การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2560นี้ตั้งเป้าพัฒนาจำนวน 5 แสนคน คาดหวังภายใน 5 ปีข้างหน้าเราจะมี อสค.ประจำครัวเรือนไม่น้อยกว่า 4 ล้านคน
ทั้งนี้อสค.จะทำงานเป็นเครือข่ายแกนนำสุขภาพในระดับครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันย่อยที่สุดของสังคมไทย เชื่อมต่อกับการทำงานของอสม.ซึ่งดูแลในระดับชุมชนบนหลักการของการสาธารณสุขมูลฐาน เพื่อการพึ่งพาตนเองได้ สร้างความยั่งยืนทางสุขภาพสอดรับแผน 20 ปีที่ไทยจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 อสม. 1 คนจะมีทีม อสค.ร่วมทำงาน 4 คน
“ ต้องยอมรับว่า ด้วยจำนวนของบุคลากรสาธารณสุขที่มีค่อนข้างจำกัด ไม่สามารถเดินทางเข้าหมู่บ้านได้ตลอดเวลา การสร้างพลังภาคประชาชนคือ อสม.และอสค.มาช่วยทำหน้าที่ในชุมชน จัดการปัญหาสุขภาพในชุมชนของตนเอง จะเป็นยุทธศาสตร์บริการทางการแพทย์อย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมีความประทับใจและมีความรู้ด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง
ซึ่งจะเกิดผลลัพธ์ต่อความมั่นคงของระบบสุขภาพของประเทศไทย4 เรื่องใหญ่ คือ ประชาชนมีสุขภาพดียาวนานขึ้น ผู้ที่ป่วยแล้วจะได้รับการดูแลถูกต้องไม่เกิดโรคแทรกซ้อน ไม่เสียชีวิตเร็ว และได้รับการดูแลในวาระสุดท้าย เสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี” นายแพทย์วิศิษฎ์กล่าว
นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวอีกว่า การพัฒนา อสค.ครั้งนี้จะใช้วิธีการเรียนรู้ฝีกปฏิบัติจริงกับผู้ป่วยร่วมกับทีมหมอครอบครัวที่ไปเยี่ยมบ้านหรือเรียนรู้ขณะพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลจากบุคลากรสาธารณสุข เช่น อสค.ที่ดูแลญาติในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง จะได้รับการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ 3 เรื่องหลัก
ขณะพาญาติไปพบแพทย์ตามนัด คือ 1.ความรู้โรคที่เป็น 2.การควบคุมโรคด้วยอาหาร การออกกำลังกาย การปรับอารมณ์ การงดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา การใช้ยา และ3.การป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนโดยเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ครอบครัวได้รับการถ่ายทอดความรู้อย่างสม่ำเสมอ เกิดทักษะดูแลสุขภาพทั้งในระดับบุคคลและครอบครัวดีขึ้น