แพทย์ศัลยกรรมย้ำ ประกาศยกเลิกซิลิโคนเหลว เป็นการช่วยผู้บริโภคอีกทาง
นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อเสริมสวยฯ เชื่อประกาศห้ามใช้สารเติมเต็มชนิดไม่สลายตัวโดยเฉพาะซิลิโคนเหลว จะช่วยผู้บริโภคแยกแยะว่าผู้ให้บริการเป็นแพทย์จริงหรือไม่
จากกรณีที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวกับการศัลยกรรมตกแต่ง และการเสริมสวยและการโฆษณา มีมติยกเลิกการใช้สารฟิลเลอร์ หรือสารเติมเต็มแบบไม่สลายตัวเนื่องจากการศึกษาทั้งในเชิงวิชาการและประสบการณ์ พบว่า มีผลเสียอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย โดยจะเสนอให้แพทย์สภาประการห้ามการฉีดฟิลเลอร์ที่ไม่สลายตัว เช่น ซิลิโคนเหลว ไบโอพลาสติก และซิลิโคนทุกรูปแบบที่ไม่สลายตัว เนื่องจากมีผลแทรกซ้อนและผลไม่พึงประสงค์จากการฉีดสารฟิลเลอร์ ในการประชุมใหญ่ในวันที่ 12 กันยายนนี้ และก่อนมีการประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งนั้น
ล่าสุด 23 สิงหาคม 2556 พล.ตท.นพ.อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จริงๆแล้วการฉีดสารฟิลเลอร์หรือสารเติมเต็มแบบไม่สลายตัว โดยเฉพาะซิลิโคนเหลว มีมานานแล้ว แต่ไม่ได้มีการควบคุมอย่างจริงจัง จนกระทั่งพบว่า มีคนไข้เกิดอาการข้างเคียงหลายประการ โดยเฉพาะการเข้าไปทำให้เยื่อบุผิวหนังบริเวณที่มีการฉีดเกิดการอักเสบ ดังนั้น การที่แพทยสภาจะออกประกาศห้ามการใช้สารเติมเต็มชนิดไม่สลายตัว จึงน่าจะเป็นผลดีต่อผู้บริเ เพราะจะได้เกิดความชัดเจนว่า แพทย์จะต้องไม่ฉีดสารชนิดนี้ให้ แม้จะเป็นความต้องการของคนไข้ก็ตาม
นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยแห่งประเทศไทยกล่าวอีกว่า การออกประกาศของแพทยสภา จะมีผลดีต่อผู้บริโภค เพราะจะสามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่าเมื่อไปใช้บริการคลินิกเสริมความงามแล้ว จะไม่มีแพทย์คนใดแนะนำให้ฉีดซิลิโคนเหลวโดยเด็ดขาด หากพบว่า ยังมีการให้บริการเช่นนี้อีก ก็สามารถแน่ใจได้ทันทีว่า ผู้ที่ให้บริการฉีดสารดังกล่าว ไม่ใช่แพทย์
ก่อนหน้านี้ นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย ในฐานะอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนฯ กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าฟิลเลอร์ที่นิยมนำมาใช้ฉีดคาง เสริมจมูกนั้น เป็นสารเติมเต็ม แบ่งเป็น
1. สารเติมเต็มที่ไม่สลายตัว คือซิลิโคนเหลว
2. สารเติมเต็มที่สลายตัว คือไฮยาลูโรนิกแอซิด (Hyaluronic acid)
ซึ่งการใช้สารเติมเต็มที่ไม่สลายตัวอย่างซิลิโคนเหลวจำนวน 45 ราย ชาย 2 ราย อายุระหว่าง 19-60 ปีพบว่า 1-6 เดือนแรกหลังการฉีด ดูสวย อีก 1 ปีแรก จะดูสวยขึ้น แต่หลังจากนั้นช่วง 3-5 ปี จะเริ่มมีปฏิกิริยาขึ้น เช่น คลำพบก้อนเนื้อ เป็นผื่นแดง เหมือนมีเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก ผิวขรุขระเหมือนผิวมะระ บางรายอวยวะเริ่มผิดรูป เพราะเนื้อเยื่อและเซลล์ถูกลำลายจนเกิดอาการบวมและอักเสบ
นายกสมาคม ศัลยกรรมฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สารซิลิโคนเหลวจะค่อยๆไหลมากองรวมกัน ทำให้มีการห้อย้อย แข็งตึง และมีการเปลี่ยนแลงรูปร่างของผิวหนังบริเวณที่ฉีด การรักษาทำได้ยากมาก เพราะเนื้อเยื่อและเซลล์ใต้ผิวหนังเกิดความเสียหายอย่างมาก ที่พอรักษาคืออาการอักเสบ จานั้นใช้วิธีการขูดเนื้อเยื่อและเซลล์ที่ตายออกเพื่อให้เซลล์เกิดการสร้างขึ้นใหม่ ใช้เวลาในการรักษานาน และไม่สามารถกลับไปมีสภาพเหมือนเดิมได้ ปัจจุบันก็มีเทคนิคในการรักษาใหม่ โดยการใช้ไขมันของตัวเองจากหน้าท้องหรือบริเวณก้นมาสกัดเป็นสเต็มเซลล์จาก ไขมัน (Fat and Fat Stemcell) มาฉีดเพื่อรักษาก็ได้ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย เพราะเป็นเซลล์ของตัวเอง หากมีการยกเลิกการใช้ซิลิโคนเหลวปัจจุบันก็ยังสมารถใช้ไฮยาลูโรนิกแอซิด หรือสเต็มเซลล์จากไขมันได้เช่นกัน
ที่มา : thairath.co.th