ตามที่มีหญิงสาวรายหนึ่งได้ทำการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่าใบหน้าเน่า เสียหายหลังไปรับการฉีดฟิลเลอร์ หรือสารเติมเต็มได้เพียง 6 เดือน แม้จะเป็นฟิลเลอร์ชนิดที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองแล้วก็ตามนั้น จริง ๆ ปัญหาแบบนี้มีให้เห็นออกมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยถูกตราหน้าว่าเป็นดินแดนอันตรายของการศัลยกรรม และ การเสริมความงามด้วยฟิลเลอร์จำเป็นต้องอาศัยดวง
สำหรับเรื่องนี้ ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า ผลข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์นั้นพบได้ทั่วโลก ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกาต่างก็มีปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะใช้ ฟิลเลอร์ชนิดที่มีมาตรฐาน หรือชนิดที่ไม่มีมาตรฐานก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้หากคนทำไม่มีความชำนาญ แต่ถ้าเป็นฟิลเลอร์ที่ได้มาตรฐานอย่างไฮยาลูรอนิก แอซิดนั้นผลข้างเคียงจะน้อยกว่าเนื่องจากสามารถสลายออกจากร่างกายได้เอง
ภาพจาก BDMS CME
ทั้งนี้ ข้อมูลในประเทศไทยไม่ได้มีการรวบรวมสถิติเอาไว้ แต่ถ้าเป็นข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราชเองนั้น แต่ละปีก็มีผู้ที่เข้ารับการรักษาทั้งหญิงและชายประมาณ 20-30 ราย ซึ่งกว่า 60% เป็นความเสียหายที่มาจากการไปรับบริการที่ไม่ได้มาตรฐานทั้งคนทำ และฟิลเลอร์ที่ใช้ ส่วนผลข้างเคียงจากฟิลเลอร์ที่ได้มาตรฐานก็มีบ้าง แต่พอสอบสวนข้อมูลเชิงลึกก็พบว่าคนที่ทำให้นั้นไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
อาการที่พบมากที่สุด คือใบหน้า หรือบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์เข้าไปมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะปํ่า ไม่เรียบเสมอ รองลงมาคือการติดเชื้อ เกิดแผลเน่า พบมากคือที่เต้านม ซึ่งการรักษาต้องทำการตัดเต้านมทิ้ง แล้วเสริมสร้างเต้านมใหม่ขึ้นมา
ในกรณีใบหน้านั้นการรักษาค่อนข้างยาก ยิ่งถ้าเป็นฟิลเลอร์ที่ไม่ได้รับการรับรองซึ่งจะไม่สลายไปเองนั้น ยิ่งยากเข้าไปใหญ่เพราะฟิลเลอร์จะกระจายแทรกอยู่ตามส่วนต่าง ๆ การผ่าตัดเอาออกได้ไม่ทั้งหมด เพราะบริเวณใบหน้าเส้นประสาทอยู่จำนวนมาก อาจจะเกิดผลกระทบทำให้ปากเบี้ยว ผิดรูปได้ ที่สำคัญไม่มีอะไรการันตีได้ว่าปัญหาจะไม่กลับมาอีก เรียกว่าจุดไหนเกิดปัญหาก็ค่อยแก้จุดนั้น
“จริง ๆ แล้วฟิลเลอร์มีการใช้มานานเพื่อแก้ไขจุดบกพร่อง การเติมร่องเล็ก ๆ ให้ตื้นขึ้นมาก็นับว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้ผลดี แต่ในกรณีที่ต้องการเพิ่มความคมชัดของสัดส่วน การขึ้นรูปต่าง ๆ อย่างเช่น จมูกนั้นหากให้เทียบกันแล้วส่วนตัวคิดว่า ใช้วัสดุที่เป็นแกนจะสวยกว่า”
ทั้งนี้ ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ ยืนยันว่า การฉีดฟิลเลอร์ไม่จำเป็นต้องพึ่งดวง แต่สิ่งสำคัญคือ “มาตรฐาน” โดยใช้ฟิลเลอร์ที่ได้รับการรับรอง ซึ่งราคาแพง 1 ซีซี ตกประมาณ 6-7 พันบาท แต่จะเอาเรื่องราคามา
บอกอย่างเดียวไม่ได้เพราะบางคนก็อัพราคาขึ้น ดังนั้นต้องได้เห็นขวดจริงว่าเป็นอย่างไร มีการรับรองมาตรฐานอย่างน้อยคือได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สุดท้ายคือ “หมอ” ต้องเป็นหมอจริง และมีความเชี่ยวชาญ ถ้าได้มาตรฐานทั้งคนทั้งของก็จะลดปัจจัยเสี่ยงจากผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้
แต่ปัญหาที่พบตอนนี้คือจะมีวงจรอุบาทว์ ซึ่งคนที่ไปรับการฉีดฟิลเลอร์ที่อาจจะมีส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้มาตรฐาน แล้วสวยข้ามคืน ภายใน 1 เดือนยังไม่มีปัญหาก็จะชักชวนกันไปทำ กลายเป็นว่าเกิดความเสียหายเป็นหมู่คณะ ดังนั้นอยากให้คนที่อยากสวย อยากหล่อด้วยฟิลเลอร์ระวัง และศึกษาข้อมูลให้ดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้อย่างเว็บไซต์ http://www.plasticsurgery.or.th เป็นต้น