เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า สภากาชาดไทยร่วมกับเครือข่ายออนไลน์รณรงค์สุขภาพชายรักชาย หรือ อดัมส์ เลิฟ จัดงานรณรงค์เนื่องในวันเอดส์โลก ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ พร้อมเปิดตัว “วันเพร็บโลก” (World PrEP Day) เป็นประเทศแรกของโลก เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเสี่ยงคือ ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย กินยาเพร็บ (PrEP: Pre-Exposure Phophylaxis) ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ถึงร้อยละ 92 ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละไม่เกิน 8,000 ราย โดยเป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายร้อยละ 50 คู่สามีภรรยา ร้อยละ 20-30 ผู้ใช้สารเพสติดชนิดฉีด ร้อยละ 10 และผู้ให้บริการทางเพศ ร้อยละ 10
ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้มีการใช้ยาเพร็บในกลุ่มที่มีอุบัติการณ์การติดเชื้อเอชไอวีสูงเกินร้อยละ 3 แต่ในส่วนของประเทศไทยยังยังไม่ได้มีการบรรจุยาดังกล่าวอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ด้านการป้องกัน รักษาโรคของประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าในการบรรจุยาดังกล่าวเข้าเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าการให้ยาเพร็บเพื่อป้องกันการติดเชื้อนั้นมีความคุ้มค่ากว่าการให้ยาต้านไวรัสเมื่อเกิดการติดเชื้อแล้ว ยกตัวอย่าง การติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 7 คน ใน 100 คน ในจำนวนนี้จะสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้อีกอย่างน้อย 14 คน รวมเป็น 21 คน ดังนั้นหากให้ยาเพร็บในคนที่มีความเสี่ยง 7 คน จะมีค่าใช้จ่ายคนละ 500 บาทต่อเดือน รวมแล้วปีละประมาณ 6 แสนบาท แต่ถ้าปล่อยให้เกิดการติดเชื้อถึง 21 คน ก็ต้องให้ยาต้านไวรัสไปตลอดชีวิต ค่าใช้จ่ายอย่างน้อยคนละ 1,000 ต่อเดือน