ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า การแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย แม้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาจะถูกเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตเพิ่ม ทั้งแพทย์ พยาบาล และสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน

 แต่จนถึงปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด และห่างไกล เรียกได้ว่า เป็นปัญหาด้านการขาดแคลน การกระจายตัว ซึ่งมีการพยายามทำให้ออกมาดีที่สุด ตั้งแต่สมัย นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ เป็น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อไม่นานมานี้ นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขณะนี้ปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยมีมากและหลากหลายขึ้น คนไทยเจ็บป่วยจากโรคจิตเวช มีปัญหาสุขภาพจิต เฉลี่ยร้อยละ 14 หรือประมาณ 7.16 ล้านคน

ในขณะที่จำนวนของบุคลากรสุขภาพจิตยังมีน้อยและขาดแคลน โดยเฉพาะ 2 วิชาชีพหลักคือ จิตแพทย์และพยาบาลจิตเวช โดยจิตแพทย์ทั้งประเทศมีเพียง 675 คนซึ่งต่ำกว่าจำนวนที่น่าจะเป็นคือ 1,319  คน คิดตามอัตราเฉลี่ยจิตแพทย์ 2 คนต่อประชากร 1 แสนคน

ส่วนจำนวนพยาบาลจิตเวชปัจจุบันมีเพียง 3,422 คน  ยังต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งต้องมีค่าเฉลี่ยพยาบาลจิตเวช 7.1 คนต่อประชากร 1 แสนคน และยังขาดพยาบาลจิตเวชสำหรับเด็กและวัยรุ่นอย่างมาก

ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตได้เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากร  ซึ่ง โรงพยาบาลศรีธัญญา นอกจากภารกิจหลัก กลายเป็นสถาบันการศึกษาแพทย์ สาขาจิตเวชศาสตร์ ผลิตจิตแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไปแล้ว เพราะมีความพร้อมทุกด้าน เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติแก่นักศึกษาแพทย์

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับมามองถึง ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ในภาครัฐแล้ว ต้องนึกถึงกรณีของ หมอเบิร์ท แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์  จาก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เข้าทำงานที่โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นแพทย์ใช้ทุน ในแผนกจิตแพทย์ทั่วไป

ช่วงนั้นผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอมได้เคยเข้าไปสัมภาษณ์  หมอเบิร์ท ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา โดยได้ตั้งฉายาให้ หมอเบิร์ท ว่า “นางฟ้าหลังคาแดง” เพราะตอนที่ไปสัมภาษณ์เธอนั้น ได้พบเจอผู้ป่วยจิตเวช เคสหนักๆ โวยวาย คุมสติ ไม่อยู่ จนทำให้ หมอเบิร์ท ก็เกือบสติหลุดเหมือนกัน นักข่าวก็เลยต้องกลับบ้าน รวมทั้งเธอก็เป็น นางสาวไทยปี 2542 ที่มีคนไข้ทางจิต รักมากมาย 

วันรุ่งขึ้น นัดกับ “หมอเบิร์ท แพทย์หญิงอภิสมัย”  อีกครั้ง ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หมอเบิร์ท เคยกล่าวไว้ว่า  “ปีแรกที่มาอยู่ศรีธัญญาเป็นช่วงที่ตัดสินใจยากกว่า เพราะตอนที่จบใหม่ ๆ มีทางเลือกที่จะทำงานอื่นๆ พอจบมาก็รู้สึกว่าโชคดีแล้วที่เลือกทางนี้เพราะการเป็นจิตแพทย์ ยิ่งนานยิ่งคมขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเราเจอเคสเยอะ ประสบการณ์เยอะเรายิ่งมีแนวคิดที่แตกขยายมากขึ้น แล้วการเป็นข้าราชการก็สอนอะไรเราหลายอย่าง

คือ ถ้าเลือกราชการแล้วเงินเดือนก็คือเงินเดือนราชการ จบแพทย์สตาร์ทที่ 7 พันกว่า จบจิตแพทย์ 8,400 เป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ ตอนเป็นนางสาวไทยใช้โน่นใช้นี่ แต่พอเลือกราชการเราก็ต้องใช้ชีวิตปกติอย่างที่เคยเป็น

แทนที่จะขับรถเราก็ต้องนั่งรถเมล์ นั่งเรือ นั่งรถไฟฟ้า ก็เป็นอีกชีวิตหนึ่ง ไม่ได้เหมือนคนที่อยู่ในวงการบันเทิง การเป็นนางสาวไทยปีหนึ่งเราก็รู้สึกว่าเราสนุกกับชีวิตอีกแบบ เสร็จแล้วเราก็มาเป็นคนเดิม”  

ภาพจาก อินสตาแกรม nonmakeup 196w

ช่วงเป็นแพทย์ใช้ทุน หมอเบิร์ท พักที่โรงพยาบาลศรีธัญญา โดยมีแม่ เปิดร้านขายกาแฟสด อยู่โรงอาหาร โดยเมนูกาแฟสดจะเป็นกาแฟในรสชาติต่างๆ ตามสไตล์ ซึ่งใช้ชื่อเรียกว่า เช่น กาแฟรส โรคซึมเศร้า (Depression)  กาแฟรสโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาของแพทย์ครบเวลาในการใช้ทุนรัฐบาลแล้ว มีสิทธิจะไปอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าแพทย์ท่านนั้นมีจุดมุ่งหมายของชีวิต และ อุทิศตนเพื่อสังคมอย่างไรบ้าง

ปัจจุบัน หมอเบิร์ท แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ เป็น ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์  โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของประเทศ ที่มุ่งเน้นบริการวินิจฉัย รักษา และบำบัดฟื้นฟูสุขภาพใจ ตามหลัก Recovery Oriented Services ( ROS ) ด้วยกระบวนการการรักษา และกิจกรรมหลากหลายที่สนับสนุนให้ผู้ป่วยตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง และมีส่วนร่วม

ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ป่วยจิตเวช จะต้องได้รับความสะดวกสบาย รักษาได้หาย รวดเร็วมากกว่า โรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งผู้ป่วยจิตเวช ในโรงพยาบาลรัฐ ต้องช่วยเหลือตัวเองเกือบทุกด่าน ตั้งแต่การคัดกรอง ชั่งน้ำหนัก วัดความดันเอง 

เรื่องนี้สะท้อนได้ดีถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุข คือ วิกฤติแพทย์-พยาบาลสมองไหล เพราะใช้ทุนครบแล้ว ก็ออกไปประจำโรงพยาบาลเอกชน

สำหรับ “นางฟ้าหลังคาแดง”  นั้น เปรียบได้กับ หมอเบิร์ท แพทย์หญิงอภิสมัย  ซึ่ง หลังคาแดง เป็นชื่อที่อยู่อาศัยของคนที่ป่วยทางจิต     

โดยที่ ประเทศไทยในยุคโบราณเชื่อกันว่า การเจ็บป่วยทางจิตเกิดจากการกระทำของอำนาจเหนือธรรมชาติ อาทิ ผีสางเทวดา จนบางภูมิภาคเรียกผู้ป่วยทางจิตว่า ผีบ้า เพราะเชื่อว่าผีเข้าสิงทำให้เกิดอาการเป็นบ้า

จากความเชื่อเช่นนี้ ทำให้ผู้ป่วยถูกนำตัวไปรักษาตามวัด หรือรับการเสกเป่าจากพ่อมดหมอผีต่างๆ แทนที่จะนำตัวไปรับการรักษาพยาบาล

อย่างไรก็ดีความเชื่อเช่นนี้ก็ทำให้เกิดผลดีประการหนึ่งกับผู้ป่วย คือ เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการแล้วชาวบ้านก็จะไม่รังเกียจ เพราะถือว่าผีออกแล้ว ทำให้ผู้ป่วยยังสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ

โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตในประเทศไทย เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นยุคเดียวกับการจัดตั้งโรงพยาบาลอื่นๆ สถานที่เดิมของโรงพยาบาลผู้ป่วยโรคจิตตั้งอยู่ปากคลองสานฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเรือนเก่าพระยาภักดีภัทรากร มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “โรงพยาบาลคนเสียจริต” เปิดดำเนินการ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2432

ในยุคแรกนั้นไม่มีความมุ่งหมายอื่น นอกจากจะนำคนเสียจริตมาฝากขัง การดูแลจึงมีแต่ขังไว้ ในบางครั้งก็มีการรักษาบ้าง เป็นประเภทยาต้ม ยาหม้อ ยาระบาย ทำให้ผู้ป่วยง่วงซึม ที่วุ่นวายนักก็เป่าด้วยยาสลบ ถ้าไม่ทุเลาลงก็ถึงขั้นทรมานทุบหนักๆ หรือไม่ก็ให้อดอาหาร บางทีก็ถึงขั้นกอกเลือด ซึ่งหมายถึง การดูดเลือดออกโดยใช้เขาควาย หรือไม่ก็ใช้ปลิงดูด มีเวทมนตร์คาถาบ้างตามความรู้ของแพทย์สมัยนั้น

จนกระทั่งปี 2445 รัฐบาลต้องการพัฒนาการแพทย์ด้านการรักษาผู้ป่วยโรคจิต จึงอนุญาตให้สร้างโรงพยาบาลคนเสียจริตขึ้นใหม่ ซึ่งก็คือ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในทุกวันนี้ โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้มีลักษณะเป็นโรงพยาบาลแบบตะวันตก เปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลจากการคุมขัง และการรักษาแผนโบราณมาเป็นการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน มีการเลี้ยงดูอาหาร การหลับนอนต่างๆ ให้บริบูรณ์ขึ้น เลิกการล่ามโซ่อย่างแต่ก่อน และพยายามให้เป็นรูปแบบโรงพยาบาลจริงๆ ถึงแม้เรือนไม้หลายหลังยังกั้นห้องด้วยลูกกรง และคนไข้ยังต้องนอนกับพื้นอยู่ก็ตาม

โรงพยาบาลคนเสียจริตแห่งใหม่นี้อยู่ในความดูแลของนายแพทย์ชาวอังกฤษ งานชิ้นสำคัญนอกจากการวางผังป่าอันสวยงามร่มรื่น โดยถือหลักว่า ป่าเป็นเครื่องหมายของการระบายทุกข์ และความสงบแห่งจิตแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่ทำให้เกิดศัพท์แสลงว่า “หลังคาแดง” อันลือลั่นจากการไปเหมาซื้อสีแดงค้างสต็อกราคาถูกคุณภาพดีมาผสมน้ำมัน แล้วทาหลังคาอาคารสังกะสีทุกหลังเพื่อป้องกันสนิม ทำให้หลังคาโรงพยาบาลจึงเป็นสีแดงเพลิงสะดุดตาคนทั่วไป เป็นที่มาของสมญา “หลังคาแดง” ที่เรียกกันติดปากมาจนปัจจุบันนั่นเอง

ทุกวันนี้ประเทศไทยของเรามีโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตอยู่หลายแห่ง มีวิวัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงของชื่อเรียกขานดังนี้ โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา  โรงพยาบาลโรคจิตภาคกลาง เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลศรีธัญญา  โรงพยาบาลโรคจิตภาคใต้ เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลสวนสราญรมย์  โรงพยาบาลโรคจิตภาคเหนือ เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลสวนปรุง  เป็นต้น

สุดท้าย หวังว่า ….โรงพยาบาลศรีธัญญา  จะผลิตจิตแพทย์รุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาเป็น “นางฟ้าหลังคาแดง” แทนรุ่นเดิมๆ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี  โดยสร้างทีมจิตแพทย์ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต  ที่เข้มแข็ง โดยให้สวัสดิการที่ดีบรรจุเป็นข้าราชการเพื่อขวัญ และ กำลังใจต่อไป ค่ะ

เครดิตภาพจาก อินสตาแกรม nonmakeup 196w  , โพสต์ทูเดย์ , พันทิป , ศูนย์จิตรักษ์  โรงพยาบาลกรุงเทพ , โรงพยาบาลกรุงเทพ ฯลฯ

เรื่องน่าสนใจ