นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโรคไบกอเร็กเซีย (Bigorexia) หรือโรคที่คิดว่าตัวเองเล็กเกินไป โดยมักชอบส่องกระจกบ่อยๆ แล้วคิดว่าร่างกายไม่กำยำล่ำสัน ทั้งที่ตัวเองอาจมีร่างกายที่กำยำอยู่แล้ว จนต้องเข้าฟิตเนสเล่นยกน้ำหนักบ่อยๆ หากไม่ได้เล่นจะเกิดอาการเครียดและซึมเศร้า ซึ่งมักเกิดกับผู้ชายวัยรุ่นหรือวัยกลางคน ว่าโรคนี้อยู่ในกลุ่มของโรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ (Body Dsymophic Disorder : BDD) หรือบีดีดี มีความผิดปกติต่อการประเมินภาพลักษณ์ของตนเอง จะมีอาการย้ำคิด หมกมุ่นกับเรื่องรูปลักษณ์ของตนเอง ทั้งที่รูปร่างตนเองก็ปกติแต่มักมองว่าบกพร่อง หาจุดตำหนิได้ตลอดเวลา จนเกิดความเศร้า ความทุกข์ ความเครียด กระทั่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น
“คนที่พบโรคนี้ไม่ใช่จิตแพทย์ แต่เป็นแพทย์ผิวหนัง แพทย์ศัลยกรรม เพราะมีการไปพบแพทย์บ่อยๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรูปร่างของตัวเอง โรคนี้จะคล้ายการเสพติดศัลยกรรม แต่อาจจะมีความสนใจในตำแหน่งหรืออวัยวะที่ต่างออกไป บางคนสนใจแต่จมูก ปาก หรือกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ซึ่งเมื่อแพทย์ผิวหนังหรือศัลยกรรมค้นพบก็จะส่งประวัติไปยังจิตแพทย์เพื่อทำการรักษา ที่น่าห่วงคือ หากแพทย์ทั้งสองทางทราบว่าป่วยแต่ไม่ส่งไปรักษากับจิตแพทย์ บางคนอาจแอบไปทำศัลยกรรมเองจนเป็นอันตรายได้” นพ.วรตม์กล่าว
นพ.วรตม์กล่าวด้วยว่า สาเหตุของโรคยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมอง และเกิดจากปัญหาในวัยเด็กคือ เคยถูกล้อเลียน รังแก ต่อว่าในเรื่องของรูปลักษณ์ หรืออาจเคยถูกละเมิดทางกาย ทางอารมณ์ เป็นต้น ส่วนการแก้ไขโรคนี้ต้องพบจิตแพทย์ในการพูดคุยประเมินเรื่องภาพลักษณ์ เพื่อทำจิตบำบัด ซึ่งในสหรัฐพบว่าได้ผลถึง 80% บางรายอาจให้ยาเพื่อเปลี่ยนสารเคมีในสมองควบคู่ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อรักษาหายแล้วอาจเป็นอีกได้ หากมีความคิดเรื่องรูปร่างหรือพฤติกรรมเดิมๆ กลับมาอีก ให้ใช้กลยุทธ์ต่างๆ ที่จิตแพทย์สอนมาจัดการความคิดหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวเอง แต่ต้องมารักษากับจิตแพทย์อย่างต่อเนื่องด้วย
เมื่อถามว่าคนที่ชอบเล่นฟิตเนส ยกน้ำหนัก แล้วมักส่องกระจกดูตัวเองบ่อยๆ หรือชอบถ่ายรูปตัวเองบ่อยๆ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าวหรือไม่ นพ.วรตม์กล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ เพราะคนเราอยากได้รับการยอมรับจากคนอื่น เช่น คำชม การกดไลก์ ยังไม่ถือว่าผิดปกติ แต่ถ้าหากทำแล้วมีอาการหมกมุ่นต้องระวัง ซึ่งโรคบีดีดี คนรอบข้างสามารถช่วยสังเกตได้ เมื่อพบแล้วควรแนะนำให้มาพบจิตแพทย์ เพื่อแก้ไขความคิดในเรื่องของรูปร่าง
ขอบคุณที่มา มติชนออนไลน์