นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูหนาวนี้ กรมสบส.มีความห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว
เช่น โรคไตวาย โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยหรือเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ได้ขอให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้วิธีการดูแลสุขภาพตัวเองและให้ติดตามเยี่ยมเยียนอาการเป็นกรณีพิเศษ
นายแพทย์วิศิษฎ์กล่าวว่า โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องปฏิบัติ 3 เรื่องหลักอยู่แล้วได้แก่ การกินยาควบคุมอาการตามแผนการรักษาของแพทย์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงฤดูหนาวจะต้องเพิ่มการดูแลเป็นกรณีพิเศษ
โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 6 ล้านคน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอากาศหนาวจะเย็นกว่าที่อื่น ซึ่งนอกจากความเย็นและความชื้นในอากาศที่ลดลงจะส่งผลกระทบทำให้ผิวหนังแห้ง แตกคันแล้ว
ความหนาวเย็นมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเร็วกว่าปกติ และทำให้เลือดมีความหนืด มีผลกระทบต่อระบบการไหลเวียนเลือด ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆในร่างกาย จึงอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น โดยอุณหภูมิที่ลดลงทุก 1 องศาเซลเซียสจะเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจเฉียบพลัน (Heart attack) ได้ถึงร้อยละ 2
สำหรับการดูแลสุขภาพในช่วงฤดูหนาว ขอให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังปฏิบัติตัวดังนี้ 1.ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ สวมหมวกไหมพรม เสื้อคลุมกันหนาว ใส่ถุงมือถุงเท้า สวมรองเท้าที่ใส่สบาย ทาผิวด้วยโลชั่นที่มีส่วนผสมของมอยเจอร์ไรเซอร์วันละหลายๆครั้งรักษาความชุ่มชื้นผิวหนัง ให้หลีกเลี่ยงอยู่ในที่โล่งลมโกรกหรือสถานที่มีคนแออัด
เนื่องจากอาจติดเชื้อไวรัสไข้หวัดจากคนอื่นได้ง่ายและหายช้ากว่าคนทั่วไป 2.ดื่มน้ำสะอาดมากๆให้ได้วันละ 2 ลิตร หรืออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว รับประทานอาหารปรุงสุกแล้วให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารรสไม่จัด หลีกเลี่ยงขนมหวาน อาหารไขมันสูง เพิ่มการรับประทานผักสดและผลไม้สดที่หวานน้อย เนื่องจากมีแร่ธาตุสูง มีวิตามินเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคช่วงหน้าหนาว หลีกเลี่ยงการดื่มสุราเพราะไม่สามารถแก้ความหนาวได้ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากอาจทำให้โรคที่มีอยู่เดิมกำเริบขึ้นได้
3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน ผลของการออกกำลังกาย จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด หัวใจมีความทนทาน
สำหรับผู้สูงอายุควรออกกำลังกายโดยการเดินเร็วหรือยืดเหยียดร่างกาย 4.หมั่นตรวจเช็คค่าความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
5.รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด 6. จัดการตนเองแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ไม่เครียด ไม่พึ่งสุรา สารเสพติด และ 7.พักผ่อนให้เพียงพอ โดยสวมใส่ชุดนอนที่อบอุ่นและห่มผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง