ทีมแพทย์ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ทำการทดลองครั้งสำคัญโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนมนุษย์ ในการผ่าตัดรักษาอาการตาบอดการทดลองครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ London Project to Cure Blindness ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ด้วยจุดประสงค์ในการฟื้นฟูการมองเห็นให้แก่ผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (AMD) โดยการทดลองล่าสุดเป็นการผ่าตัดดวงตาให้แก่คนไข้หญิงวัย 60 ปีรายหนึ่ง ที่โรงพยาบาลจักษุมัวร์ฟิลด์ส เมื่อเดือนก่อน
ทีมแพทย์ใช้เซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากการบริจาค เพาะแผ่นเซลล์จอประสาทตาชั้นนอกเพื่อช่วยรักษาและค้ำจุนเซลล์รับแสงที่จุดกลางรับภาพของจอประสาทตา ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยในการมองเห็น จากนั้นได้นำแผ่นเซลล์ไปผ่าตัดปลูกถ่ายไว้ที่ด้านหลังจอประสาทตา ทีมแพทย์ระบุว่า น่าจะทราบผลการรักษาในช่วงปลายปีนี้ แต่จนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่าเซลล์ดังกล่าวมีสุขภาพดีและอยู่ใต้จอประสาทตาอย่างที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ ทีมแพทย์จะใช้วิธีการรักษาดังกล่าว กับคนไข้โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD)ซึ่งเป็นภาวะสูญเสียการมองเห็นอย่างกะทันหันอีกจำนวน 10 ราย และจะเฝ้าติดตามอาการเป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าการรักษาวิธีนี้ปลอดภัยและช่วยฟื้นฟูการมองเห็น
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า หากการรักษาประสบความสำเร็จ ก็อาจจะช่วยรักษาผู้ป่วยโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (Dry AMD) ในระยะเริ่มต้นได้ด้วย ทั้งนี้ โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้สูญเสียการมองเห็นตรงส่วนกลาง ส่งผลกระทบต่อคนในสหราชอาณาจักรกว่า 600,000 คน และเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอดในประเทศพัฒนาแล้ว