นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ด้วงก้นกระดก มีประโยชน์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชตามธรรมชาติ ปกติด้วงชนิดนี้จะไม่กัด หรือต่อยคน แต่หากด้วงตกใจ หรือถูกตี ถูกบีบ บดขยี้ จะปล่อยน้ำพิษที่ชื่อว่า เพเดอริน ( Paederin ) ออกมาเพื่อป้องกันตัว
พิษส่วนใหญ่จะทำให้เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนังอย่างเฉียบพลัน แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยอาการแพ้พิษจากด้วงก้นกระดก จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่สัมผัส
สำหรับอาการหลังสัมผัสพิษใน 24 ชั่วโมงแรก ผิวจะมีผื่นแดง คัน แสบร้อน เกิดเป็นแผลพุพองภายใน 48 ชั่วโมง การอักเสบอาจขยายวงใหญ่ขึ้น จากนั้นจึงตกสะเก็ด
อาการเหล่านี้จะหายเองได้ภายใน 7-10 วัน ในรายที่เป็นรุนแรง ผิวหนังจะอักเสบหลายแห่ง คล้ายงูสวัด บางรายอาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเส้นประสาท ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน เป็นผื่นบวมแดงติดต่อกันหลายเดือน
หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ ส่วนการดูแลหลังสัมผัสพิษ ให้ล้างด้วยน้ำเปล่า ฟอกสบู่ หรือเช็ดด้วยแอมโมเนีย แล้วใช้ยาปฏิชีวนะประเภทครีม ทาบริเวณที่ถูกพิษ ถ้ามีอาการคันหรือปวดแสบปวดร้อนให้ทาด้วยน้ำยาคาลาไมล์ และควรไปพบแพทย์ หรือโทรสายด่วน 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะนี้ภาคใต้อยู่ในช่วงฤดูฝน เป็นช่วงที่พบด้วงกระดกจำนวนมาก ขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่ง ล่าสุดมีรายงานข่าวทางสื่อมวลชน พบประชาชนใน 5 อำเภอ
ได้แก่ เมืองชุมพร ปะทิว สวี ทุ่งตะโก และหลังสวน หลายคนถูกพิษด้วงก้นกระดกนั้น จากการติดตามได้รับรายงานว่า ทั้งหมดอาการไม่รุนแรง พบเพียงเป็นแผลพุพอง สำหรับลักษณะของด้วงกระดก จะมีลำตัวเป็นเงามัน ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ส่วนหัวมีสีดำ ปีกสีน้ำเงินเข้ม ลำตัวมีสีดำสลับส้ม มักจะงอท้องส่ายขึ้นลงเมื่อเกาะอยู่กับพื้น ปกติจะอาศัยอยู่ในบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ชอบออกมาเล่นไฟตอนกลางคืน ผู้ปกครองควรระวังเด็กไม่ให้จับด้วงมาเล่น