เป็นเรื่องที่ทำให้แฟนคลับตกตะลึงไม่น้อย สำหรับ หนุ่มหล่อไฮโซ “ท็อป-ณัฐเศรษฐ์ พูนทรัพย์มณี” ที่ออกมาเปิดเผยว่า กำลังป่วยโรค “หยุดหายใจขณะหลับ” โดยแพทย์เพิ่งจะตรวจพบว่า มีปัญหาที่บริเวณสมองกับหัวใจ
อย่างไรก็ตาม “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” จึงได้ต่อสายพูดคุยกับคุณหมอ 2 ท่าน คือ อ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ และ นพ.อนุชิต นิยมปัทมะ แพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านอายุรกรรมโรคปอด รพ.มหาราชฯ หนึ่งในทีมผู้ดูแลรักษา พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่
โดย อ.พญ.นฤชา อธิบายว่า สาเหตุของโรคนี้เนื่องจากมีทางเดินหายใจแคบ สาเหตุที่ทำให้ทางเดินหายใจแคบมาจาก 1.เป็นโรคอ้วน 2.คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ก็อาจจะเป็นได้ และ 3.คนที่มีโครงสร้างหน้าผิดปกติ
เช่น คนที่มีคางเล็กๆ บุ๋มเข้าไป หากเป็นแล้วจะเห็นได้จากการนอนกรน เพราะลมหายใจผ่านท่อหายใจส่วนบนตีบ ลมหายใจที่ผ่านที่แคบๆ ก็จะเกิดการสั่นที่เนื้อเยื่อทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเสียงกรน
แต่ในกรณีที่มันตีบก็จะทำให้ออกซิเจนไม่เข้าร่างกาย ก็จะเกิดอาการสะดุ้งเฮือก นอนหลับๆ ตื่นๆ ตอนเช้าจะรู้สึกปวดหัว ทั้งที่นอนหลายชั่วโมง แต่ก็ยังรู้สึกง่วง เหมือนคนนอนไม่เพียงพอ
อ.พญ.นฤชา กล่าวอีกว่า ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้ คือ การกินเหล้า สูบบุหรี่ และการกินยาบางอย่าง เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยานอนหลับบางตัว ที่ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย คนที่เป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นชายมากกว่าหญิง
เพราะผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศหญิงเป็นตัวช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ แต่เมื่อถึงวัยหลังหมดประจำเดือน ผู้หญิงก็จะมีโอกาสเป็นมากขึ้นเท่าๆ กับผู้ชาย ส่วนที่เป็นมาก คือ ช่วงอายุประมาณ 40-50 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ชายเกิน 50% ก็มักจะนอนกรนอยู่แล้ว แต่ใช่ว่าจะเป็นทุกคน
คนที่เป็นโรคนี้จะสังเกตได้จากเวลานอนแล้วตื่นบ่อยๆ ตอนเช้าไม่สดชื่น นอนแล้วเกิดอาการเฮือกๆ กรนแล้วเงียบไป ตื่นตอนเช้าปวดหัว จำอะไรไม่ดี นี่คืออาการที่สังเกตได้ หากมีอาการเหล่านี้ ก็ควรจะมาตรวจรักษา
“โรคนี้ไม่ทำให้ตาย แต่หากทิ้งไว้จะมีผลกับโรคอื่นๆ เพราะสมองไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ ส่งผลให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย ความดันสูงฯ อัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวาย
สาเหตุที่เป็นโรคนี้ไม่ตาย เพราะเวลาที่เราหยุดหายใจไป สมองก็จะสั่งร่างกายให้กลับมาหายใจอีก ซึ่งจะแสดงอาการสูดแบบเฮือกแรง ซึ่งช่วงนี้จะทำให้สะดุ้งตื่น เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ แต่โรคนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งให้เกิดโรคหัวใจผิดจังหวะ แล้วเกิดภาวะไหลตาย ซึ่งโรคนี้อาจจะมีส่วนกระตุ้น”
ส่วนวิธีการรักษานั้น อ.พญ.นฤชา บอกว่า ถ้าเป็นไม่มาก ก็อาจจะเริ่มต้นด้วยการลดน้ำหนัก ลด เลิกบุหรี่ สุรา หลีกเลี่ยงท่านอนหงาย ให้นอนตะแคง นอนหัวสูง ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรจะมาพบแพทย์ การรักษาอาจจะใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง
โดยต้องมาทดสอบว่าจำเป็นต้องเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่ แต่การผ่าตัดจะนิยมผ่าให้กับผู้ที่เป็นไม่มาก ด้วยการตัดท่อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ลิ้นไก่ เพดานอ่อนบางส่วนออก หรือทำให้กว้างขึ้น โอกาสหายได้ยังมี
“การนอนต่ำ นอนสูง มีผลแค่ไหน จากการศึกษาพบว่า คนไข้ที่เป็นโรคนี้มาก จะนอนหมอนต่ำด้วยท่านอนหงาย อาจเป็นมากกว่าหมอนสูง หากสูงขึ้น 45 องศาขึ้นไป ภาวะนั้นก็จะลดลง ที่ถามว่าการนอนสูงจะมีส่วนช่วยหรือไม่นั้น คำตอบคือ ใช่
แต่จะได้ผลกับคนที่เป็นไม่มาก ที่สำคัญควรนอนตะแคง ซ้าย หรือขวาจะดีกว่า แต่หากมาพบแพทย์ เราจะมีการตรวจการนอนหลับ โดยจะต้องนอนโรงพยาบาล 1 คืน จะมีการตรวจคลื่นสมอง ตรวจลักษณะการหายใจ เพื่อมาวิเคราะห์ได้ว่าเป็นโรคนี้มากน้อยแค่ไหน หยุดหายใจกี่ครั้งต่อชั่วโมง”
แพทย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ อธิบายต่อว่า ไม่มีอาชีพไหนเสี่ยงเป็นโรคนี้มากที่สุด เพราะโรคนี้ไม่สัมพันธ์กับอาชีพ แต่อาจจะเกี่ยวที่ว่าอาชีพนั้นทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือไม่ ส่วนเรื่องการลดน้ำหนักจะลดวิธีใดก็ได้
แต่หากจะลดควรลดประมาณ 5-10% ถ้าสมมติน้ำหนัก 60 กก. แล้วเป็น ก็ควรลดให้ได้สัก 6 กก. ส่วนออกกำลังกายทั่วไป ก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่หากต้องการช่วยเฉพาะโรคนี้ ก็มีการอออกำลังกายเฉพาะจุด ประมาณ 30 นาที เพื่อให้ท่อทางเดินหายใจส่วนบนขยาย เช่น การเป่าปาก อ้าปากออกเสียง ซึ่งการทำดังกล่าวเหมือนกับการขยายทางเดินหายใจ แบบนี้จะช่วยให้ลดความรุนแรงจากโรคได้ประมาณ 50%
สำหรับคนไทย หรือคนเอเชีย หากมีดัชนีมวลกาย เกิน 25 ก็จะถือว่าอ้วน หากเกิน 30 จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้
ขณะที่ นพ.อนุชิต นิยมปัทมะ อธิบายว่า สาเหตุทำไมคนผอมยังเป็นได้ ว่า สาเหตุโรคนี้เกิดจาก 2 ส่วน คืออาจจะมาจากสมองส่วนเส้นทางเดินลมหายใจโดยตรง และ สอง ทางเดินหายใจถูกปิดกั้น อาจจะมาจากเป็นโรคอ้วนมากๆ ลิ้นคับ ปากโต หรือต่อมทอลซินโต อะดินอยโต อีกกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ หรือลิ้นที่หย่อนลงไป เนื่องจากมีอายุมากขึ้น พวกนี้จะผ่าตัดไม่ได้ผล จำเป็นต้องใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือ CPAP
นอกจากนี้ นพ.อนุชิต ยังแนะนำวิธีสังเกตง่ายๆ ว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ ด้วยการ ส่องกระจกแล้วอ้าปากกว้างๆ ลองมองดูว่าเห็นลิ้นไก่หรือไม่ ถ้าเห็นลอยสูงอยู่เหนือลิ้นมากๆ ก็ถือว่าดี แต่ถ้าเห็นน้อย ไม่ขึ้นเหนือลิ้นก็ต้องระวัง เพราะช่องคอแคบลง หรือวันไหนตื่นเช้ามากแล้วง่วงนอน อ่อนเพลียง่าย ทำอะไรนิดหนึ่งก็จะหลับทั้งวัน แสดงว่าตอนนอนมีปัญหา
“โรคนี้เป็นต้นเหตุของหลายโรค เพราะออกซิเจนเลี้ยงสมองไม่พอ ก็จะทำให้เส้นเลือดขดตัว เป็นต้นตอให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น โรคหยุดหายใจขณะหลับ นับเป็นภัยมืดที่แฝงตัวนำโรคต่างๆ มาโดยไม่รู้ตัว” นพ.อนุชิต กล่าวสรุป
ที่มา ไทยรัฐ