แพทย์ไม่แนะตัดเต้าทิ้ง ตาม‘แองเจลิน่า โจลี่’

milk

 

กลุ่มมะเร็งเต้านม สถานีวิทยามะเร็งศิริราช ร่วมกับ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ศรีษะ-คอและเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จัดเสวนาวิชาการ “การตรวจเพื่อทำนายมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ แนวทางการักษา” โดยถอดบทเรียนจาก แองเจลิน่า โจลี่ ที่ตัดสินใจผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง เนื่องจากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในอนาคต ซึ่งก่อให้เกิดความสนใจอย่างแพร่หลายทั่วโลก เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมและมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

นพ.มานพ พิทักษ์ภากร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า มะเร็งเต้านมชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เกิดจากการกลายพันธุของยีนบีอาร์ซีเอ 1 (BRCA1) และบีอาร์ซีเอ 2 (BRCA2) โดยกลุ่มคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป หากเกิดการกลายพันธุของยีนบีอาร์ซีเอ 1 มีความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมสูงถึง 65% และเป็นมะเร็งรังไข่ 39% หากเกิดการกลายพันธุของยีนบีอาร์ซีเอ 2 เสียงเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึง 45% และเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่สูงถึง 11% และความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ทั้งนี้จากข้อมูลในต่างประเทศพบว่าคนทั่วไปมีโอกาสที่ยีนทั้ง 2 ตัว 1 ต่อ 500-1,000 ประชากร แต่ยังไม่แสดงอาการ โดยเฉพาะในกลุ่มชาวยิว และไอซ์แลนด์ ส่วนอัตราการเกิดในคนไทยยังไม่มีรายงาน แต่ข้อมูลของประชากรในภูมิภาคเอเชียพบว่ามีอัตราการกลายพันธุของยีนที่ว่า นี้จำนวนน้อยกว่า

นพ.มานพ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสามารถตรวจหาการกลายพันธุของยีนบีอาร์ซีเอทั้ง 2 ชนิดได้ ร่วมกับการวิเคราะห์ประวัติครอบครัว เพื่อให้ง่ายต่อการพยากรณ์โรค ดังนั้นควรตรวจในคนที่เป็นมะเร็งที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแล้ว ซึ่งอัตราค่าบริการจะอยู่ที่ 50,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลศิริราชได้ทำการศึกษาครอบครัวผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง 60 ครอบครัว ในจำนวนนี้ พบว่ามี 4 ครอบครัวที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม ดังนั้นจึงถือว่าอุบัติการณ์ในประเทศไทยไม่เยอะ

พญ.พรพิมพ์ กอแพร่พงศ์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า การตรวจคัดกรองสามารถทำได้ 2 วีธี คือการตรวจด้วยตัวเอง และการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ เช่น การทำแมมโมแกรม การทำอัลตราซาวด์ และการตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถตรวจได้ตั้งแต่ก้อนเนื้อมีขนาดเล็กประมาณ 5 มม. ทำให้มีโอกาสในการรักษาได้สูง อย่างไรก็ตามควรมีการตรวจสม่ำเสมอร่วมกับการทำแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์เนื่องจาก ยังมีมะเร็งเต้านมชนิดอื่นที่เครื่องแม่เหล็กฯ ไม่สามารถตรวจพบได้ เช่นมะเร็งที่เกิดจากหินปูน ทั้งนี้การตรวจหาก้อนเนื้อที่ผิดปกติที่ได้ผลควรเป็นช่วง 10-20 วันหลังจากมีประจำเดือนแล้ว

นพ.วิษณุ โล่สิริรัตน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า การสร้างเต้านมเทียมจะมี 2 วิธีคือการใช้เนื้อเยื่อของร่างกายส่วนอื่นๆ กับการใช้เต้านมเทียม โดยสามารถทำร่วมกับการผ่าตัดตัดเต้านมได้เลย หรือจะรอทำหลังการผ่าตัด และได้รับการรักษาโรคมะเร็งจนแน่ใจแล้วก็ได้ อย่างไรก็ตามแพทย์ไม่แนะนำให้ตัดเต้านมทิ้งเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งใน อนาคต เพราะถึงแม้จะสามารถสร้างเต้านมใหม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติ ส่วนกรณีผู้หญิงที่เคยผ่านการศัลยกรรมเต้านมเพื่อความงามมาแล้วนั้น ก็ยังสามารถทำการตรวจหาโรคได้ตามปกติ โดยให้ผลที่แม่นยำเช่นเดิม

ด้านพญ.สุวนิตย์ ธีระศักดิ์วิชยา ภาควิชาสูติศาสตร์ – นารีเวชวิทยา กล่าวว่า ผู้ที่มีการกลายพันธุของยีนบีอาร์ซีเอ 1 และ บีอาร์ซีเอ 2 เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งรังไข่สูงกว่าคนปกติ 10 เท่า ประมาณ 3% เกิดในผู้ที่มีอายุน้อย ทั้งนี้มะเร็งชนิดนี้รักษายาก ยังไม่มีวิธีการคัดกรอง ถึงแม้จะรักษาด้วยการผ่าตัดรังไข่แล้ว แต่ก็สามารถเกิดมะเร็งชนิดอื่นได้เพราะมีเยื่อบุผิงหนังจำนวนมาก ทั้งนี้หากตัดรังไข่ออกจะเกี่ยวพันกับฮอร์โมน ดังนั้นจะทำให้เกิดภาวะเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าปกติ ผมร่วงง่าย ผิวหนังเหี่ยว อารมณ์แปรปรวน ความจำไม่ค่อยดี กระดูกเสียหาย ไขมันแปรปรวน เพราะฉะนั้น ก่อนตัดสินใจตัดรังไข่ทิ้งจะต้องได้รับคำแนะนำจากอายุรแพทย์ สูตินารีแพทย์ จิตแพทย์ และศัลยแพทย์ ก่อน

 

ขอบคุณที่มา กรุงเทพธุรกิจ

เรื่องน่าสนใจ