หลังจากมีข่าวกรณีน้องไอนส์ หนูน้อยวัย 2 ขวบ ป่วยมะเร็งสมองเสียชีวิต และทางครอบครัวใช้กระบวนการไครโอนิกส์ หรือการแช่แข็ง เพื่อนำไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการรักษาในอนาคต ซึ่งการพัฒนาด้านการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งสมองในเด็ก สำหรับประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด
โรคมะเร็งสมองในเด็ก มีมากถึง 20 ชนิด สาเหตุที่แน่ชัดไม่สามารถระบุได้ เฉลี่ยพบเด็กป่วย 10 คน ต่อ 1 ล้านประชากรเด็ก มีตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงวัยรุ่น ปัจจุบันการรักษาทำได้แค่ผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก ให้คีโม ฉายรังสี อัตราการหายมีแค่ร้อยละ 50 ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง รวมทั้งสภาพร่างกายของเด็กและช่วงวัย เพราะทุกๆ การผ่าตัด ฉายรังสี ส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโต
อาการของโรคเด่นชัด เริ่มจากอาเจียน เวียนศีรษะ เด็กเล็กสังเกตยาก เพราะอยู่ในวัยซุกซน กว่าจะรู้ตัว มีอาการเซื่องซึม ไม่เล่น พ่อแม่ต้องสังเกต และบางครั้งจุดของการเกิดก้อนเนื้อยากแก่การผ่าตัด พ่อแม่บางคนทำใจ จึงเลือกรักษาแบบพัฒนาคุณภาพชีวิต ควบคู่กับความสุขของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ทำให้เด็กมีความสุขสมวัย ได้วิ่งเล่นตามปกติ
ความก้าวหน้าด้านการแพทย์ ปัจจุบันนิยมเก็บเซลล์ในจุดที่เป็นมะเร็ง เพื่อศึกษาวิจัยพันธุกรรมของมะเร็ง และหาแนวทางรักษาในอนาคต ส่วนการใช้เทคโนโลยีไครโอนิกส์มีมานานแล้ว คล้ายกับการขายฝันให้กับผู้ป่วยที่ไม่มีโอกาสรักษาหายขาด แต่การเก็บเซลล์ทุกอย่างย่อมมีเงื่อนเวลาไม่ต่างจากสเปิร์มและไข่ แค่หวังว่าวันหนึ่งในอนาคต วิวัฒนาการทางด้านการแพทย์จะทำให้เราก้าวทันโรค แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง