โรคไตเรื้อรัง ตั้งแต่เริ่มเป็นระยะแรก ไปจนถึงเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการใช้คําว่าโรคไตเรื้อรัง แทนคําว่าโรคไตวายเรื้อรัง เนื่องจากสามารถสื่อความหมายและอธิบายได้ครอบคลุมถึงผู้ป่วยโรคไต ที่มีโอกาสเสื่อมของไตตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และผู้ป่วยยังคงมีการทํางานของไตที่เป็นปกติอยู่ค่ะ ลองมาดูกันว่า โรคไตวายเรื้อรังนั้น มีอาการอย่างไร และเราสามารถจัดการกับมันได้อย่างไรบ้าง
ไตมีความเสียหายมานาน 3 เดือนหรือมากกว่า
ทําให้เกิดความผิดปกติของโครงสร้างหรือการทํางานของไต โดยอาจมีอัตราการกรองของ โกลเมอรูลัส (glomerular filtration rate) ลดลง หรือไม่ก็ได้ โดยมีลักษณะความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีตัวบ่งชี้ว่า มีการเสียหายต่อไต ได้แก่ ความผิดปกติของเลือด ปัสสาวะ และการตรวจทางรังสีวินิจฉัย
อัตราการกรองของโกลเมอรูลัส ต่ำกว่า 60 มล./นาที
นานกว่า 3 เดือน โดยที่ไตอาจมีความผิดปกติ หรือไม่ก็ได้
สาเหตุของ โรคไตเรื้อรัง
สาเหตุของโรคที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตอักเสบเรื้อรัง ส่วนสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ โรคในระบบภูมิคุ้มกันการติดเชื้อ ที่ระบบต่างๆ ของร่างกาย นิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือการอุดกั้นที่ระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างและได้รับยาที่มีพิษต่อไต เช่น ไกลโคสปอริน (glyclosporins) ยากดภูมิต้านทาน (immunosuppressive agents) และคอร์ติโคสเตรอยด์
ระยะของ โรคไตเรื้อรัง
เพื่อให้เป็นแนวทางสําคัญ ในการให้การวินิจฉัยและดูแลรักษา ได้มีการแบ่งโรคไตเรื้อรัง ออกเป็น 5 ระยะตามความสามารถในการทําหน้าที่ของไต ดังนี้ค่ะ
ระยะที่ 1
เป็นระยะที่ไตได้รับความเสียหาย แต่อัตราการกรองของไตยังคงเป็นปกติ และผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ
ระยะที่ 2
เป็นระยะที่ไตได้รับความเสียหายและอัตราการกรองของไตลดลงเล็กน้อย ผู้ป่วยจะเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนเล็กน้อยที่ตรวจพบทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ เป็นต้น
ระยะที่ 3
เป็นระยะที่ไต ได้รับความเสียหายปานกลาง ผู้ป่วยจะเริ่มปรากฎมีอาการผิดปกติให้เห็น เช่น มีภาวะซีด มีอาการของโรคทางกระดูก เป็นต้น
ระยะที่ 4
เป็นระยะที่ไต ได้รับความเสียหายอย่างมาก ในระยะนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น แบบแผนการนอนหลับเปลี่ยนแปลง มีอาการอ่อนเพลีย และมีอาการคันที่ผิวหนัง
ระยะที่ 5
ระยะไตวาย ในระยะนี้ อัตราการกรองของไตจะลดลงเป็นอย่างมาก คือน้อยกว่า 15 มล./ นาที ผู้ป่วยจะมีภาวะยูรีเมีย และอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด น้ำท่วมปอด เป็นต้น จึงมีความจําเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการบําบัดทดแทนไต ถ้าหากว่าผู้ป่วยปรากฎอาการของภาวะยูรีเมียชัดเจน
การรักษา
ที่จะให้ได้ผลดีนั้น ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มเป็นระยะแรก ไปจนถึงเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในระยะแรก ถึงระยะที่ 3 ของการดําเนินโรค จะมีวัตถุประสงค์ในการรักษาเพื่อป้องกันและชะลอการเสื่อมของไต โดยการกินยาและโภชนบําบัด จะช่วยชะลอการเสื่อมของไตที่ยังทําหน้าที่ได้ดีอยู่ ให้ยังคงอยู่ได้มากและนานที่สุด โดยยังไม่ทําการบําบัดทดแทนไต และเป็นการรักษาเพื่อการป้องกันและบรรเทาภาวะแทรกซ้อนจากโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากเป็นระยะที่ไตมีความผิดปกติอย่างมาก การรักษาจึงใช้ร่วมกันทั้งการรักษาแบบประคับประคอง ที่ประกอบไปด้วยการกินยา การควบคุมอาหารและน้ำ โดยเฉพาะการควบคุมอาหารประเภท โปรตีน โซเดียม ไขมัน ฟอสเฟต แคลเซียมและโปแตสเซียม
……………………………………………………………………
นี่เป็นภาวะการเจ็บป่วยเรื้อรัง ที่รักษาไม่หายขาด ซึ่งจะมีการดําเนินของโรค จนเข้าสู่ระยะสุดท้ายในที่สุด ดังนั้น จึงต้องมีการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการป้องกัน และชะลอการเสื่อมของไตในส่วนที่ยังสามารถทํางานได้ ไม่ให้เข้าสู่ระยะสุดท้ายเร็วเกินควร และเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในขณะที่ป่วยเป็นโรค ช่วยเหลือให้สามารถดํารงชีวิตอยู่ได้ โดยยังไม่ต้องใช้การรักษา โดยการบําบัดทดแทนไตได้นานที่สุด และสามารถดําเนินชีวิตภายใต้ข้อจํากัดของโรคได้อย่างเหมาะสมค่ะ
เนื้อหาโดย Dodeden.com