โออีซีดีเผยผลการศึกษา 70ประเทศระบุคอมพิวเตอร์ไม่ช่วยให้เด็กเรียนดีซ้ำทดสอบการอ่านยังตกต่ำลงมาก
วันนี้(16ก.ย.58)องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เปิดเผยผลการศึกษาในกว่า 70 ประเทศ ที่บ่งชี้ว่า การทุ่มงบประมาณมหาศาลด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในโรงเรียน ไม่ได้ช่วยให้ผลการเรียนของเด็กดีขึ้น ทว่ากลับส่งผลในทางตรงข้าม โดยพบว่า การใช้คอมพิวเตอร์บ่อยครั้งมีแนวโน้มทำให้ผลการเรียนของเด็กตกต่ำลง
ผลการศึกษาที่ได้บ่งชี้ว่า ระบบการศึกษาที่ทุ่มงบประมาณในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น ไม่ให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในการทดสอบด้านการอ่าน, คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA)
ทั้งนี้ ประเทศที่เด็กใช้อินเทอร์เน็ตในโรงเรียนสูงสุด คือ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และสวีเดน มีผลทดสอบด้านการอ่านที่ตกต่ำอย่างมาก ขณะที่ สเปน, นอร์เวย์ และเดนมาร์ก มีผลลัพธ์คงที่ แต่ประเทศและเมืองที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตในโรงเรียนน้อยที่สุด อาทิ เกาหลีใต้, นครเซี่ยงไฮ้, ฮ่องกง และญี่ปุ่น กลับมีผลการวัดความรู้นานาชาติดีที่สุด เด็กสิงคโปร์ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีแบบพอประมาณ มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์ดีเป็นอันดับที่ 1
แอนเดรียส ชไลเชอร์ ผอ.ฝ่ายการศึกษาของโออีซีดี บอกว่า เมื่อพิจารณาจากระบบการศึกษาที่เด็กมีผลการเรียนเป็นเลิศอย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ก็จะพบว่าประเทศเหล่านี้มีความระมัดระวังในการให้เด็กใช้เทคโนโลยีในชั้นเรียน ซึ่งผลการศึกษาพบว่า เด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนเป็นประจำ กลับมีผลการเรียนต่ำกว่าเด็กที่ใช้เทคโนโลยีแบบพอประมาณ คือราว 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ เด็กกลุ่มที่ใช้คอมพิวเตอร์แบบปานกลาง ยังมีผลการเรียนดีกว่ากลุ่มที่แทบไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เลยอีกด้วย
ชไลเชอร์ แนะว่า การฝึกให้เด็กมีทักษะที่ดีด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ จะช่วยลดความแตกต่างด้านสังคมและเศรษฐกิจมากกว่าการใช้เทคโนโลยีไฮเทค ซึ่งอาจทำให้เด็กเสียสมาธิและยังทำให้เกิดปัญหาลอกการบ้านจากอินเทอร์เน็ตอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาครั้งนี้ไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ใช้เทคโนโลยี ทว่าน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้ค้นหาวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น