ที่มา: dodeden

นางมาลี  โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานจากสำนักงานตัวแทนส่งเสริมการค้า ณ เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ว่า เครื่องดื่มชาหมักเพื่อสุขภาพแบรนด์มาดี้ (Madi) ของบริษัท ทีแกลเลอรี ประเทศไทย จำกัด สามารถเจาะเข้าตลาดญี่ปุ่นได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ ได้เริ่มนำเข้าเดือนธันวาคมนี้ โดยผู้นำเข้าคือบริษัท กรีน ฮาร์ท จำกัด (Green Heart Co., Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายสินค้าและให้บริการด้านการดูแลสุขภาพและความงามที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของญี่ปุ่น

“บริษัท ทีแกลเลอรี ประเทศไทย จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาตลาดสินค้าสำหรับผู้สูงอายุของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นในเรื่องบรรจุภัณฑ์และการเขียนฉลากสินค้าให้ถูกต้องตามกฎระเบียบของประเทศญี่ปุ่น

และการเข้าร่วมโครงการนี้เองทำให้บริษัทฯ ได้พบกับแพทย์หญิง มาซาโกะ โทสะกะ (Dr. Masako Tosaka) จากบริษัท กรีนฮาร์ท จำกัด ซึ่งได้ให้ความสนใจในเครื่องดื่มชาหมักมาดี้ และได้เริ่มเจรจาธุรกิจเพื่อทำตลาดในประเทศญี่ปุ่น

การที่บริษัท กรีน ฮาร์ท จำกัด นำเข้าเครื่องดื่มชาหมักมาดี้ของไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นในครั้งนี้ ส่งผลให้สินค้ามีภาพลักษณ์ที่ดีและได้รับการเชื่อถือจากชาวญี่ปุ่นได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากกฎหมายของญี่ปุ่นมีความเข้มงวดมากในเรื่องการนำเสนอคุณประโยชน์ของสินค้าต่อสุขภาพและร่างกาย” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว

บริษัท ทีแกลเลอรี ประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ผลิตและส่งออกใบชาและผลิตภัณฑ์จากจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย จีน และตะวันออกกลาง บริษัทฯ มีความสนใจตลาดญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยได้พัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์จากใบชาหลากหลายชนิด และหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นคือ ชาหมักเพื่อสุขภาพ หรือเป็นที่รู้จักว่า “คอมบูชะ (Kombucha)”

นางสาวสุวลี เกียรติกรัณย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทีแกลเลอรี ประเทศไทย จำกัด ให้ข้อมูลว่า คอมบูชะ เป็นเครื่องดื่มที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีนมากว่า 2,000 ปี เชื่อกันว่ามีคุณสมบัติในการบำรุงรักษาสุขภาพ

สำหรับเครื่องดื่มชาหมักมาดี้ ซึ่งเป็นแบรนด์ของบริษัทเองนั้นเป็นสูตรที่บริษัทได้วิจัยพัฒนาร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยชาหมักที่ส่งเข้าตลาดญี่ปุ่นมี 2 ชนิด คือ ชาหมักที่ทำจากชาพันธุ์อู่หลงและชาหมักที่ทำจากชาพันธุ์อัสสัมซึ่งปลูกได้ในภาคเหนือของไทย สินค้าทั้งสองตัวนี้มีผลการศึกษาวิจัยยืนยันได้ว่า มีสารต้านอนุมูลอิสสระหลายชนิดและช่วยในเรื่องการชะลอวัย (Anti-aging) ได้อีกด้วย ภายหลังจากการทำตลาดในญี่ปุ่นสำเร็จแล้ว บริษัทฯ เริ่มได้รับการติดต่อจากผู้นำเข้าในเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาด้วย

อนึ่ง ตลาดสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพของญี่ปุ่นจัดว่ามีขนาดใหญ่ ซี่งสถาบันวิจัยยาโน่ (Yano Research Institute Ltd.) ได้ทำการสำรวจและประมาณการว่ามูลค่าตลาดในปี 2559 จะอยู่ที่ประมาณ 780,400 ล้านเยน หรือราว 260,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 4.6 นับเป็นโอกาสของสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพของไทยที่มีการค้นคว้าวิจัยยืนยันในเรื่องคุณประโยชน์และความปลอดภัยต่อร่างกาย

เรื่องน่าสนใจ