กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำโครงการเครื่องวัดความดันโลหิตปลอดภัยคนไทยสุขภาพดี เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ภายใต้ โครงการ “ใต้ร่มพระบารมี น้อมนำสุขภาพดี สู่วิถีชุมชน” เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชภิเษกของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ได้รับบริการตรวจคุณภาพเครื่องวัดความดันโลหิตอย่างง่ายจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมแนะนำให้ประชาชนนำเครื่องวัดความดันโลหิตตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรค NCDs (Non-communicable diseases) เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยสาเหตุหลักสำคัญของกลุ่มโรค NCDs คือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย การนอนดึก การมีความเครียดสูง เป็นต้น โดยกลุ่มโรค NCDs ที่พบเห็นส่วนใหญ่ ประกอบด้วย โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งต่างๆ เป็นต้น
เครื่องวัดความดันโลหิตนับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ในการตรวจวัดเพื่อการวินิจฉัยโรค และติดตามอาการของโรค ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการตรวจสอบการทำงานของเครื่องเป็นประจำ และได้รับการบำรุงรักษาตามรอบระยะเวลา หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ค่าความดันที่วัดได้ไม่มีความคลาดเคลื่อนเกินเกณฑ์ที่ยอมรับ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการควบคุมค่าความดันโลหิตของประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยนำเครื่องวัดความดันโลหิตที่ตนเองใช้อยู่ไปตรวจสอบคุณภาพเลย ด้วยเหตุเพราะไม่รู้ว่าจะไปตรวจที่ไหน สถานที่ตรวจสอบอยู่ห่างไกลหรืออาจมีเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ การเดินทางไม่สะดวก ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดทำเครื่องวัดความดันโลหิตปลอดภัยคนไทยสุขภาพดี เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ภายใต้โครงการ “ใต้ร่มพระบารมี น้อมนำสุขภาพดีสู่วิถีชุมชน” เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชภิเษกฯ เพื่อให้ประชาชนในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ได้รับบริการจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ในการรับบริการตรวจคุณภาพเครื่องวัดความดันโลหิต โดยมีหน่วยงานด้านสาธารณสุขกลุ่มเป้าหมาย คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยบริการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่ใกล้ชิดและเข้าถึงชุมชน ประชาชนเดินทางไปรับบริการได้สะดวก โดยร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดำเนินกิจกรรมในโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 – 2563

 

 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ได้ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ในการทดสอบเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติ โดยใช้ชุดทดสอบเครื่องวัดความดันโลหิตอย่างง่าย (BP Sure) ร่วมกับแอพพลิเคชั่น BP Sure ทดสอบเครื่องวัดความดันโลหิต แก่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 8,459 แห่ง สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 78 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 68 แห่ง รวมทั้งสิ้น 8,605 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85.37 จากเป้าหมาย 10,080 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งภายหลังจัดอบรมทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และศูนย์บริการสาธารณสุขได้นำองค์ความรู้ และนำชุดทดสอบเครื่องวัดความดันโลหิตอย่างง่าย (BP Sure) ไปต่อยอดในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยทำการทดสอบเครื่องวัดความดันโลหิตของประชาชน และ อสม. ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจำนวนทั้งสิ้น 7,382 เครื่อง พบว่าเครื่องอยู่ในเกณฑ์ปกติ จำนวน 6,456 เครื่อง ไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติ จำนวน 926 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 12.54 โดยได้มีข้อแนะนำในการนำเครื่องวัดความดันโลหิตที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติไปปรับใช้แก้ไขให้เกิดประโยชน์

“เครื่องวัดความดันโลหิตของประชาชน หรือของ อสม.ในพื้นที่ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพความแม่นยำ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในผลการวัดของเครื่องวัดความดันโลหิต ซึ่งต่อไปทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะมีการดำเนินการทดสอบคุณภาพเครื่องวัดความดันโลหิตของประชาชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยมีสุขภาพที่ดี ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบสถานบริการตรวจคุณภาพเครื่องวัดความดันโลหิตฟรี ได้โดยใช้แอพพลิเคชั่น BP Sure ที่ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบในการทำการทดสอบคุณภาพเครื่องวัดความดันโลหิตของประชาชน” นายแพทย์โอภาส กล่าวทิ้งท้าย

 

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่

โดดเด่น
ศัลยกรรม
webdodeden

กรมวิทย

เรื่องน่าสนใจ