ที่มา: https://dodeden.com

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่าวันนี้ ( 3 กันยายน 2560) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า จากสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในทุก 1 ชั่วโมงจะมีคนไทยอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ประมาณ 91 คน   คาดว่าในปี 2573 สัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 25 หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวจากปี 2553 ที่มีร้อยละ 11.9  

กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว  ซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาหลายด้านเนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความเสื่อมของร่างกายเป็นไปตามวัย  โรคที่จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามลักษณะสังคมผู้สูงอายุคือโรคสมองเสื่อม (Dementia ) สาเหตุที่พบมากที่สุดประมาณร้อยละ 60 เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer Disease :AD)  นอกจากจะมีอาการหลงลืมแล้ว อาจมีความผิดปกติทางพฤติกรรมหรือมีอาการทางจิตเช่นหวาดระแวง หูแว่วร่วมด้วย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและเป็นภาระต่อผู้ดูแลอย่างมาก

“ขณะนี้พบผู้สูงอายุไทยป่วยโรคสมองเสื่อมร้อยละ 6.3  หรือประมาณ 6 แสนคน กล่าวคือพบได้ 6 คนในผู้สูงอายุทุกๆ 100 คน ยิ่งอายุมากความเสี่ยงจะสูงขึ้น  โรคนี้แม้รักษาไม่หายขาดแต่สามารถชะลอความรุนแรงโรคได้

ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังปัญหาโรคสมองเสื่อม ให้สามารถรู้สัญญาณของโรคได้อย่างรวดเร็ว  จึงได้พัฒนาแบบตรวจคัดกรองง่ายๆ เพื่อให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขนำไปใช้ได้ เช่นอาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม. อาสาสมัครประจำครอบครัวหรืออสค.  หรือประชาชนทั่วไปที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านทั้งที่ช่วยเหลือตนเองได้ และนอนติดเตียง หรืออยู่ติดบ้าน” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า  แบบคัดกรองโรคสมองเสื่อม ( Dementia Screening Tool :DST ) ดังกล่าว มีจุดเด่น คือ สั้น ใช้ง่าย ใช้ข้อคำถามเพียง 4 คำถาม เพื่อประเมินสภาวะของสมองทั้งเรื่องความจำ  ความคิด พฤติกรรม  รวม 8 คะแนน  สามารถประเมินและรู้ผลภายใน 4 นาที  การแปลผลหากได้ต่ำกว่า 5 คะแนนแสดงว่าอาจมีปัญหาการทำงานของสมอง จะต้องส่งพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อเนื่อง  แบบทดสอบนี้ได้นำไปทดสอบใช้ในภาคสนาม พบว่ามีความแม่นยำสูงตามมาตรฐานสากล

โดยกรมฯจะเริ่มใช้ทั่วประเทศตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นไป  ทั้งนี้จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำไปใช้ตรวจคัดกรองผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแลด้วย

ทางด้านนายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวชผู้สูงอายุ กล่าวว่า ลักษณะของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ จะเริ่มขึ้นอย่างช้าๆ ใช้เวลาเป็นปีๆ เริ่มจากมีอาการหลงลืมหรือจำไม่ได้ว่าเพิ่งทำอะไรมา แล้วตามด้วยอาการอื่นๆ ทำให้ผู้ดูแลไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้  ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ขณะนี้ประมาณร้อยละ 80 จะมีอาการรุนแรงไปแล้ว  ทำให้การชะลอความเสื่อมได้ผลน้อยมาก

การมีแบบคัดกรองนี้จะช่วยให้เรารู้สัญญาณอาการโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ  อาจจะใช้ตรวจทุก 6 เดือนเพราะไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ใช้เพียงกระดาษแผ่นเดียว จึงมั่นใจว่าจะสามารถให้การดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการแรกๆ สามารถชะลอความรุนแรง  ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตมีคุณภาพชีวิตดี ช่วยลดภาระญาติและครอบครัวได้เพราะผู้สูงอายุที่เป็นโรคนี้แล้ว จะทำให้ครอบครัวมีค่าใช้จ่ายดูแลเดือนละ 1-2 หมื่นบาทต่อคน

ทางด้านนายแพทย์ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์  ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแบบคัดกรองภาวะสมองเสื่อม  กล่าวว่า  การพัฒนาครั้งนี้ดำเนินการตามหลักมาตรฐานสากล ในช่วงปี 2558-2559   ภายใต้การสนับสนุนจากโรงพยาบาลสวนสราญรมย์

โดยประยุกต์คำถามให้ใกล้เคียงกับวิถีชีวิตและความคุ้นเคยของคนไทยมากที่สุด   คำถาม 4 ข้อมีดังนี้ ข้อ1. ให้ผู้ทดสอบอ่านชุดคำคือ  “ต้นไม้ รถไฟ มือ” ทั้ง 3 คำอย่างช้าๆ ห่างกันคำละ 1 วินาที ด้วยระดับเสียงดัง  เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ถูกทดสอบได้ยินอย่างชัดเจน จนกระทั่งทวนคำได้ถูกต้อง   ข้อนี้ไม่คิดคะแนน

ข้อ2. ให้คิดคำนวณเลข  100 ลบด้วย 7 หรือ 20 ลบด้วย 3 ไปเรื่อยๆ 3 ครั้ง แต่ต้องใช้เวลาคิดและตอบภายในไม่เกิน  1 นาที   ตอบถูกให้ 1 คะแนน  ข้อ3. ให้ผู้สูงอายุวาดรูปหน้าปัดนาฬิกา มีเข็มนาฬิกาและตัวเลขครบถ้วน  ให้บอกเวลา 11.10 น. หากถูกต้องให้ 2 คะแนน ซึ่งค่าเวลานี้เป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าไวต่อการใช้ตรวจจับสัญญาณโรคสมองเสื่อมได้ดีที่สุด

และ ข้อที่4. ถามถึงคำ 3 คำที่ผู้ทดสอบได้เคยอ่านให้ฟังมาแล้วข้อ 1 คือ ต้นไม้ รถไฟ มือ  เพื่อทดสอบความจำ ให้คำละ 1 คะแนน   ทั้งหมดมีคะแนนรวม  8 คะแนน  หากทำได้มากกว่า  5  คะแนน ถือว่าปกติ  หากได้น้อยกว่า 5 คะแนน แสดงว่าอาจมีปัญหาการทำงานของสมอง จะต้องส่งพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยโรค

ได้นำแบบคัดกรองนี้ไปทดลองใช้กับผู้สูงอายุจำนวน 400 คน ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ระนอง กระบี่  นครศรีธรรมราช ชุมพร  และพังงา  ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว 3 อันดับแรกคือความดันโลหิตสูง  โรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง  ประมาณ 2 ใน 3 จบชั้นป.4หรือต่ำกว่า รายได้ครอบครัวต่ำกว่า 5,000 บาท 

ผลการทดสอบพบว่าให้ความแม่นยำสูงตามค่ามาตรฐานสากลและทุกคำถามมีความเหมาะสม  เมื่อเทียบกับการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมโดยจิตแพทย์และแพทย์ระบบประสาทพบว่าให้ความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 80 ซึ่งถือว่าสูงมาก   ผลดีของการใช้แบบคัดกรองนี้ จะช่วยให้เราค้นหาผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้ตั้งแต่เริ่มเป็นใหม่ๆ จะสามารถตรวจวินิจฉัยและรู้โรคสมองเสื่อมได้เร็ว ส่งผลให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ประการสำคัญยังเป็นการพัฒนาและส่งเทคโนโลยีอย่างง่ายๆ มาให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ ประเมินปัญหาการเจ็บป่วยของตัวเองและผู้สูงอายุในขั้นต้นได้  เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการส่งเสริมสุขภาพดีและป้องกันโรค ช่วยยกระดับระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0 อย่างแท้จริง

เรื่องน่าสนใจ