ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า จากกรณี ที่มีการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อโซเชียลว่า นายนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ล้มป่วยกะทันหัน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2560 และเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสินแพทย์ โดยใช้สิทธิรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ในระยะเวลา 72 ชั่วโมง แต่โรงพยาบาลชี้แจงว่าอาการของนายนทีอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง ไม่สามารถขอเบิกจ่ายได้ นั้น

บ่ายวันนี้ (10 เมษายน 2560) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ณ โรงพยาบาลสินแพทย์ เขตคันนายาว กรุงเทพฯ

นายแพทย์ธงชัย ให้สัมภาษณ์ว่า ตามนโยบายรัฐบาล “ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ใกล้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรก

ซึ่งกฎหมายการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน 72 ชั่วโมงแรก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ในกรณีของโรงพยาบาลสินแพทย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ จำนวน 287 เตียง  ตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ โรงพยาบาลสินแพทย์ได้ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) มาเป็นจำนวน 4 ราย สำหรับรายที่ 5 คือ นายนที และอยู่ระหว่างการประเมินเบื้องต้นว่าอยู่ในเกณฑ์สีแดง หรือสีเหลือง ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นโดยไม่ผ่านระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของ สพฉ. คาดว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวจะอยู่ในเกณฑ์สีเหลืองทางโรงพยาบาล จึงได้แจ้งให้ญาติผู้ป่วยทราบไปเมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา

วันนี้ กรม สบส. และสพฉ. จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) หรือไม่ โดยผ่านระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของ สพฉ. พบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์สีแดง สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามสิทธิของผู้ป่วยได้ ซึ่งโรงพยาบาลสินแพทย์ได้ให้ความร่วมมือในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเป็นอย่างดี ยึดความสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยเป็นอันดับหนึ่ง โดยไม่มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้าจากผู้ป่วยใน 72 ชั่วโมงแรกแต่อย่างใด

นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า ขอเน้นย้ำให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของ สพฉ.เป็นหลัก ในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยเพื่อความถูกต้องแม่นยำ และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ป่วย และญาติว่าการประเมินดังกล่าวถูกต้องตามเกณฑ์ที่ สพฉ.กำหนด นอกจากนี้ ในส่วนของประชาชนหากพบผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตขอให้โทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที  เพราะอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต หากล่าช้าอาจส่งผลต่อชีวิตผู้ป่วยได้

ทั้งนี้ หากพบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ของ สพฉ. ผ่านทางสายด่วน  02-872-1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

โดยให้ยึดคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเป็นที่สุด หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) โรงพยาบาลห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยเด็ดขาด และเมื่อพ้น 72 ชั่วโมงไปแล้วโรงพยาบาลเอกชนสามารถส่งตัวผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลตามสิทธิของผู้ป่วย แต่หากผู้ป่วยประสงค์ที่จะรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลเดิมจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

เรื่องน่าสนใจ