กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เรียกสอบคลินิกเสริมความงาม ย่านวังทองหลาง หลังพบมีการไลฟ์สดระหว่างให้บริการตกแต่งช่องคลอด ซึ่งมีการเผยแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสม ที่เป็นการผิดวัฒนธรรมอันดี และกฎหมายสถานพยาบาล

 

กรม สบส

 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงที่ผ่านมาสื่อโซเชียลถือว่ามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นอย่างมาก ด้วยเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงง่ายและสามารถส่งผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การถ่ายทอดสถานการณ์ผ่านแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก (Facebook) หรือที่เรารู้จักกันว่าการ “ไลฟ์สด” นั้น เป็นกระแสที่กำลังมาแรง ซึ่งหากใช้ในเชิงสร้างสรรค์แล้วย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่หากเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือเพียงแค่ต้องการเพิ่มจำนวนผู้ติดตามหรือยอดไลค์ก็อาจจะเกิดผลเสียต่อผู้รับบริการและสังคม อย่างกรณี ที่ปรากฏในสื่อโซเชียลว่ามีคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง ย่านวังทองหลาง ทำการไลฟ์สดระหว่างให้บริการผ่าตัดตกแต่งช่องคลอด หรือที่ประชาชนเรียกติดปากกันว่าการรีแพร์ (Repair) กรม สบส.ก็มิได้นิ่งนอนใจ สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้วยการไลฟ์สดในลักษณะดังกล่าวอาจจะมีการแอบแฝงโฆษณา หรือมีการแสดงภาพที่ไม่เหมาะสมในระหว่างการรับบริการ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 ในฐานโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุมัติ และโฆษณาโดยใช้ข้อความ เสียง หรือภาพอันเป็นเท็จ โอ้อวดเกินความจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกผู้เกี่ยวข้องของคลินิกมาให้ถ้อยคำที่กรม สบส.ก่อนดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย

นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า การไลฟ์สดรีวิว (Review) บริการของสถานพยาบาลนั้น หลายคนอาจคิดว่าเป็นการให้ความรู้หรือข้อแนะนำบริการมิได้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่จากการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าในการไลฟ์สดที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าจะกระทำโดยบุคลากรของสถานพยาบาลหรือผู้รับบริการก็มักจะมีการแอบแฝงคำพูดโฆษณาเชิญชวนให้เข้ารับบริการกับสถานพยาบาล หรือมีการแสดงภาพที่ไม่เหมาะสม ผิดวัฒนธรรม ศีลธรรมอันดีงาม จึงขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบว่าผู้ให้บริการ หรือผู้รับบริการทำการไลฟ์สดระหว่างรับบริการ หรือรีวิวบริการในสถานพยาบาล จะต้องห้ามปรามหรือทักท้วงให้หยุดการกระทำดังกล่าว หากปล่อยปละละเลยมิห้ามปรามแล้วสถานพยาบาลเองก็จะเข้าข่ายความผิดในฐานยินยอมให้บุคคลอื่นโฆษณาสถานพยาบาลแทนโดยมิได้รับอนุญาต หรือโฆษณาเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง อีกทั้งแพทย์ผู้ให้บริการก็อาจจะมีความผิดในฐานละเมิดสิทธิ์ของผู้ป่วย และผิดจรรยาบรรณทางการแพทย์อีกด้วย

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นเบาะแสการโฆษณาสถานพยาบาลในลักษณะที่เป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง หรือมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมขัดต่อศีลธรรม สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิดได้ที่สายด่วน กรม สบส. 1426 แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำผิด

 

สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่

โดดเด่น
ศัลยกรรม
webdodeden

 

เรื่องน่าสนใจ