กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยช่วง 7 ปี นับตั้งแต่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 พิจารณาอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนแล้ว 621 ราย แนะสถานพยาบาลเอกชน คุมเข้มบุคลากรให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ป้องปรามการกระทำผิด ขจัดเอเจนซี่ นายหน้า การขายไข่ อสุจิ ตัวอ่อน และการรับจ้างอุ้มบุญ

 

กรม สบส

 

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งมีบุตรยากได้มีบุตร รวมทั้งควบคุมการศึกษาวิจัยมิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยผลการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีคู่สามี-ภรรยาที่มีบุตรยากมีความประสงค์จะขออนุญาตให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทน หรือที่เรียกกันติดปากว่าอุ้มบุญ รวม 684 ราย โดยคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) ได้พิจารณาอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนแล้ว 621 ราย อีกทั้ง มีคู่สามี-ภรรยาติดต่อขอรับคำปรึกษาต่อการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ นับร้อยคู่ต่อปี แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีทางการแพทย์และการบังคับใช้กฎหมายของไทย และในสถานการณ์ที่การระบาดของโรคโควิดเริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเดินทางกลับเข้ามาในประเทศ เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ปีละกว่า 4,000 ล้านบาท ด้วยประเทศไทยมีสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ มากถึง 104 แห่ง อีกทั้งมีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 46 จึงเป็นจุดดึงดูดให้คู่สมรสที่มีบุตรยากเดินทางเข้ามารับบริการในไทย และจากการเดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์ของชาวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นนั้น กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งกวดขันบุคลากรของตนให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้รับบริการชาวต่างชาติถึงเงื่อนไขในการรับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในประเทศไทย อาทิ การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) การผสมเทียม การรักษาภาวะมีบุตรยากชาวต่างชาติสามารถรับบริการได้ แต่คู่สามี-ภรรยาชาวต่างชาติไม่สามารถรับบริการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้เพราะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หากสถานพยาบาลเอกชนมีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และร่วมเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ ย่อมป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิด และขจัดมิให้เกิดการลักลอบเป็นเอเจนซี่ หรือนายหน้าชักชวนให้มีการรับจ้างอุ้มบุญ การขายไข่ อสุจิ ตัวอ่อน และการรับจ้างอุ้มบุญ ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมาย และศีลธรรม

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า การรับบริการด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ อย่างวิธีการตั้งครรภ์แทน หรืออุ้มบุญ กฎหมายอนุญาตให้เฉพาะคู่สมรสชาวไทยที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นคนไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติจะต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีภาวะมีบุตรยาก ไม่อนุญาตให้คู่สมรสซึ่งเป็นชาวต่างชาติทั้งคู่ทำอุ้มบุญ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด และต้องเคยมีบุตรมาก่อน หากยังอยู่กินกับสามี จะต้องได้รับการยินยอมจากสามีก่อน ส่วนหญิงผู้ไม่เคยมีบุตรไม่สามารถรับตั้งครรภ์ได้ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ให้บริการจะต้องตรวจประเมินความพร้อมทางร่างกาย จิตใจและสภาพแวดล้อมของผู้รับบริการ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน สามารถใช้ 2 วิธีคือ ใช้อสุจิและไข่ของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร หรือใช้อสุจิหรือไข่ของคู่สมรสกับไข่หรือ อสุจิบริจาค ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และห้ามทำในเชิงพาณิชย์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมายทั้งแพทย์ นายหน้า คู่สมรส และหญิงที่ตั้งครรภ์แทน ทั้งนี้ หากพบการกระทำผิดกฎหมายเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 เพื่อติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่

โดดเด่น
ศัลยกรรม
webdodeden

 

เรื่องน่าสนใจ