ที่มา: dodeden

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรม สบส. เป็นองค์กรหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพ ให้ประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย และสมประโยชน์ รวมทั้งเป็นองค์กรของกระทรวงสาธารณสุขที่มีบทบาทในการส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศด้วย จากผลสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งขาติ

ล่าสุดในปี 2554 โรงพยาบาล (รพ.) เอกชน ขนาด 100 เตียงขึ้นไป มีรายรับจากการดำเนินการ 119,447 ล้านบาท โดยมียอดผู้เข้ารับบริการทั้งสิ้น 46.3 ล้านราย เป็นชาวต่างชาติ 3 ล้านราย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากโครงการเมดิคัลฮับ (Medical Hub) ซึ่งจุดแข็งของประเทศไทย คือ มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายสาขา เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย คุณภาพการบริการที่เป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ ค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม

นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า กรม สบส. มีนโยบายส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ 345 แห่ง พัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานเอชเอ (Hospital Accreditation ; HA) และมาตรฐานเจซีไอ (The Joint Commission International ; JCI) เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มีความปลอดภัยในระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เอชเอ ขั้นสูงสุด 62 แห่ง และเจซีไอ 41 แห่ง นับได้ว่าประเทศไทยมีโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับมาตรฐานเจซีไอมากที่สุดในอาเซียน โดยในปี พ.ศ. 2560 กรม สบส. ตั้งเป้าพัฒนาโรงพยาบาลเอกชนให้ได้รับมาตรฐานเอชเอครบทุกแห่ง ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นศูนย์กลางสุขภาพ 1 ใน 3 ของเอเชีย

ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า โรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐานเอชเอ หรือเจซีไอ จะมีระบบคุณภาพ มาตรฐานเป็นแนวปฏิบัติของการให้บริการ เพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย ความปลอดภัยการให้บริการต่างๆ รวมถึงการใช้ยา และลดความเสี่ยงอันตรายของผู้ป่วยทั้งในเรื่องการติดเชื้อ รวมทั้งอุบัติเหตุต่างๆ ในโรงพยาบาล ส่งผลให้ผู้รับบริการได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพทัดเทียมในระดับสากล    

เรื่องน่าสนใจ