ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ (17 มิถุนายน 2560 ) นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าว ขอความร่วมมือแกมบังคับให้ อสม.ทั่วประเทศ ต้องเปิดเอทีเอ็มพร้อมทำพร้อมเพย์กับบัญชีธนาคารที่เคยเปิดให้บริการนั้น

กรม สบส.ขอชี้แจงว่า อสม.สามารถทำบัตรเอทีเอ็มและพร้อมเพย์ เป็นความสมัครใจของแต่ละบุคคล ไม่ได้บังคับ สำหรับ อสม.ที่ยังไม่มีบัญชีเงินฝากสามารถเปิดบัญชีเงินฝากประเภทศูนย์บาทหรือได้รับการยกเว้นเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชี

โดยสามารถเปิดบัญชีกับ 15 ธนาคารทั่วประเทศ ได้แก่ 1.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 2.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 3.ธนาคารออมสิน 4.ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) 5.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 6.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 7.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 8.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

9.ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ไทย 10.ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) 11.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) 12.ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) 13.ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) 14.ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) และ15.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมแจ้งข้อมูลบัญชีธนาคารให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อทำการบันทึกและลงในฐานข้อมูลทะเบียนประวัติ อสม.

เนื่องจากมติคณะรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ได้เห็นชอบให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามแนวทางการบูรณาการและแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ รวมทั้งปรับปรุงระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่ในการจ่ายเข้าบัญชีฝากธนาคารให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินโดยตรงแทนส่วนราชการหรือหน่วยงาน ที่กำกับดูแลสวัสดิการสังคมแต่ละประเภท

รวมถึงการจ่ายเงินค่าป่วยการ ของอสม. เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สามารถตรวจสอบได้ โดยร่วมมือกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมบัญชีกลาง  กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในการปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินค่าป่วยการของ อสม.ทั่วประเทศ เป็นระบบ e-Payment เพื่อความรวดเร็ว ลดขั้นตอนการดำเนิน โปร่งใสและตรวจสอบได้

ตามนโยบายของรัฐบาลจากเดิมเป็นการโอนเงินผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เป็นผู้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานในพื้นที่เบิกจ่ายให้กับ อสม.โดยตรง

เรื่องน่าสนใจ