ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 16 มกราคม 2560 )  นายแพทย์ประภาส  จิตตาศิรินุวัตร  รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสถานพยาบาลและการสนับสนุนภาคประชาชนของกรมสบส.ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วม 

นายแพทย์ประภาส กล่าวว่า กรมสบส.ได้จัดทำแผนฟื้นฟูชุมชนและดูแลสุขภาพประชาชน  โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ซึ่งมีทุกหมู่บ้านที่ประสบภัยหมู่บ้านละ 10-15 คน เป็นแกนหลักดำเนินการในพื้นที่ ซึ่งกรมสบส.ได้จัดทีมนักวิชาการด้านสุขศึกษาและสุขภาพภาคประชาชนจากส่วนกลางจำนวน4ทีมลงสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขตที่จังหวัดราชบุรี นครศรีธรรมราชและสงขลา

ซึ่งดูแลพื้นที่ในภาคใต้ทั้งหมดทั้งในระยะที่มีน้ำท่วมขังและภายหลังน้ำลด เน้นหนักการป้องกันการเจ็บป่วยให้ได้มากที่สุด โดยกองสุขศึกษาได้จัดทำเอกสารคำแนะนำการดูแลสุขภาพ

เช่น ความรู้การป้องกันไฟฟ้าดูด คำแนะนำการดูแลสุขภาพ การป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วมเช่นโรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง โรคฉี่หนูเป็นต้น การทำความสะอาดบ้านเรือน ในเบื้องต้นได้จัดพิมพ์ 40,000  ชุด   ขณะนี้ได้ทยอยส่งให้อสม.นำไปแจกให้ประชาชนแล้ว

“จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยที่ตำบลกำเนิดนพคุณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบเรื่องที่น่าห่วงขณะนี้คือเรื่องบาดแผล ประชาชนมีบาดแผลทั้งจากน้ำกัดเท้า  ถูกของมีคมบาดหรือรอยขีดข่วนจากวัสดุที่ลอยมากับน้ำ จึงขอแนะนำประชาชนล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังจากเดินย่ำน้ำหรือถูกน้ำสกปรก และเช็ดด้วยผ้าสะอาดให้แห้งโดยเฉพาะตามง่ามนิ้วเพื่อไม่ให้อับชื้น

หากเห็นผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดผื่นคัน น้ำกัดเท้าหรือมีบาดแผล  ขอให้ไปรับการรักษาตั้งแต่ต้นที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่อยู่ใกล้ เพื่อไม่ให้อาการลุกลาม โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว

ขอให้ระมัดระวังดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากบาดแผลจะอักเสบติดเชื้อง่าย และหากมีอาการดังต่อไปนี้คือ บาดแผลเกิดการอักเสบ ซึ่งแผลจะมีลักษณะบวมแดง เป็นหนอง หรือมีไข้ขึ้นเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง

โดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่อง ขอให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแจ้ง อสม.ในหมู่บ้านโดยเร็ว เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งกรม สบส.ได้ให้ อสม.เผยแพร่ความรู้ประชาชนในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องแล้ว” นายแพทย์ประภาสกล่าว

นายแพทย์ประภาสกล่าวต่อไปว่า ในการดูแลสุขภาพป้องกันโรคและภัยสุขภาพในช่วงน้ำท่วมขังและภายหลังน้ำลด  ขอให้ผู้ประสบภัยปฏิบัติ 4 เรื่องหลัก

ได้แก่1.ดูแลรักษาร่างกายให้สะอาด สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและไม่อับชื้น เพื่อให้ร่างกายมีความอบอุ่นอยู่เสมอ ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร ภายหลังขับถ่ายหรือหยิบจับของสกปรก ล้างเท้าให้สะอาดหลังเดินย่ำน้ำ อย่าใช้มือขยี้ตาหรือใช้ผ้าสกปรกเช็ดตา และระมัดระวังไม่ให้น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา

2 ช่วยกันลดความสกปรกหรือความเน่าเสียน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นการป้องกันการเกิดโรคระบาด โดยห้ามถ่ายอุจจาระหรือทิ้งขยะเศษอาหารลงน้ำ ขอให้ถ่ายอุจจาระลงส้วม หากส้วมใช้การไม่ได้ ขอให้ถ่ายใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปิดปากถุงให้แน่น นำไปใส่ถุงขยะเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ทิ้งเศษอาหารเศษขยะลงในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้มิดชิดเพื่อป้องกันแมลงวันตอม

3 รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆด้วยความร้อน ปิดอาหารให้มิดชิดเพื่อป้องกันแมลงวันตอม ล้างผักสด ผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน ดื่มน้ำสะอาดเช่นน้ำบรรจุขวด น้ำต้มสุก และล้างภาชนะที่ใส่อาหารและน้ำให้สะอาด ตากแดดหรือผึ่งให้แห้ง เก็บไว้ในที่สะอาด และ4.จัดสิ่งของในบ้านให้เป็นระเบียบ สะอาด ป้องกันสัตว์มีพิษต่างๆเข้ามาอยู่อาศัย

เรื่องน่าสนใจ