นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้ออกแถลงการณ์เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ตอบโต้กรณี นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ว่าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขมีเนื้อหาที่ทำให้แพทย์และพยาบาลกลายเป็นแพะ

เพราะมีการให้กลุ่มผู้ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์และการรักษามาโหวตถูกผิด พร้อมกำหนดโทษร้ายแรงกว่าเจตนาฆ่าและคอร์รัปชัน รวมถึงมองว่าเป็นกฎหมายประชานิยมไล่แจกเงิน

11.jpg

    ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีใจความโดยสรุปว่า การที่ นพ.เมธีออกมาพูดนั้นเป็นการหาเสียง เพื่อสร้างความตื่นกลัวให้แก่แพทย์ เพื่อหวังผลให้ได้รับการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่อีกครั้งในวันที่ 17 พ.ย.นี้ เครือข่ายฯ ไม่ขอโต้ตอบทุกประเด็นที่กล่าวหา เพราะไม่ได้เป็นการติเพื่อก่อ

แต่เป็นการพูดที่เต็มไปด้วยอคติ บิดเบือน และให้ร้าย ทั้งที่ พ.ร.บ.มีเจตนารมณ์หวังดีต่อแพทย์และคนไข้ ขอวิงวอนแพทยสภาโปรดหยุดปลุกระดมความร้าวฉาน สร้างความเข้าใจผิด เพื่อหวังผลหาเสียงเลือกตั้งเหมือนนักการเมืองน้ำเน่า ถึงเวลาที่หมอกับคนไข้ควรจับมือกันก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่ใช่จ้องล้ม พ.ร.บ. โดยไม่ฟังเหตุฟังผล ขณะที่แพทยสภาก็เป็นที่พึ่งให้สังคมไม่ได้

นอกจากนี้ แพทย์ทุกคนใช่ว่าจะต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้ เพราะมีแพทย์จำนวนมากลงชื่อสนับสนุนผ่านแคมเปญของ Change.org ซึ่งเครือข่ายได้ยื่น 2 หมื่นรายชื่อให้กับ รมว.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา และการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาในครั้งนี้ ก็มีทีมที่ชูนโยบายให้มีการเยียวยาทั้งแพทย์และคนไข้ อยากให้แพทย์ที่ยังต่อต้านฉุกคิดว่า แม้แพทยสภาจะล้มร่าง พ.ร.บ.ไม่ให้เข้าสู่สภาฯ ได้

แต่ไม่สามารถหยุดคนไข้ให้ฟ้องคดีได้ และไม่สามารถช่วยลบชื่อแพทย์ออกจากคำฟ้องและคำพิพากษาได้ การมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะช่วยแพทย์ได้จริง หาก นพ.เมธีห่วงใยแพทย์ด้วยความจริงใจ ก็ควรช่วยกันผลักดัน หากเนื้อหาใดที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อแพทย์ ก็สามารถเข้าไปช่วยกันปรับแก้ได้

คนไข้ต้องการให้มี พ.ร.บ. เนื่องจากไม่ต้องการฟ้องบุคลากรทางการแพทย์ ที่รู้ดีว่าไม่มีใครตั้งใจทำให้เกิดความเสียหาย และวันหนึ่งเราก็ยังต้องพึ่งแพทย์ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราแค่ต้องการให้มีระบบมารองรับความเสียหาย อีกทั้งเงินก็เงินของคนไข้ที่ช่วยกันเองไม่ใช่เงินของแพทย์ ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะมอง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในแง่ร้าย หากมีการฟ้องร้องมากขึ้นเหมือนอเมริกา จะทำให้แพทย์อยู่ไม่ได้ คนไข้ก็ไม่มีคนดูแล สังคมก็จะลำบาก

การมี พ.ร.บ.จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ดีขึ้น เหมือนยุโรป นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ก็กำลังมีการทดลองใช้ โดย พ.ร.บ.นี้จะทำให้บุคลากรภาครัฐทำงานสบายใจขึ้น ไม่ต้องพะวงว่าจะถูกคนไข้ฟ้อง ถ้าไม่ใช่ทำโดยเจตนาหรือประมาทร้ายแรง

ส่วนการเสนอให้ขยายมาตรา 41 ให้ครอบคลุมคนไข้สิทธิอื่นนั้น เคยมีความพยายามทำในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาแล้ว เครือข่ายฯ ก็ไม่เคยขัด แต่ได้ข้อสรุปว่าทำไม่ได้ เพราะต้องมีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ คนไข้แต่ละสิทธิมีเงินกองทุนของตนเอง มีกฎหมายคนละฉบับที่ก้าวก่ายกันไม่ได้ นำเงินออกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็ไม่ได้

ถ้าไม่มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ แพทย์จะถูกฟ้องมากขึ้นเหมือนในอเมริกา ค่าเบี้ยประกันจะสูงมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างหมอกับคนไข้ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข

ที่มา ผู้จัดการ

เรื่องน่าสนใจ