ที่มา: voicetv

จักษุแพทย์ฯ แนะลูกหลาน ชวนผู้สูงวัยตรวจโรคจุดภาพชัดเสื่อมอย่างน้อยปีละครั้ง งดสูบบุหรี่ ลดอาหารที่มีไขมันสูง และสวมแว่นกันแดด

396680

นายแพทย์ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เล็งเห็นว่าสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การดูแลโรคทางดวงตา ให้แก่ผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย ซึ่งโรคหนึ่งที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ โรคจุดภาพชัดเสื่อม อันเป็นสาเหตุของตาบอดอันดับหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นสาเหตุของตาบอดอันดับสามของประเทศไทย

โดยผลสำรวจเกี่ยวกับสาเหตุตาบอดและสายตาเลือนลางในประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วยโรคจุดภาพชัดเสื่อมในระยะเริ่มต้น จำนวน 2.7% ของประชากรอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1,815,020 คน และ ระยะลุกลาม จำนวน 0.3% คิดเป็น 201,669 คน

โรคจุดภาพชัดเสื่อมมักเกิดขึ้นตามการเสื่อมสภาพของร่างกายตามอายุขัย สามารถพบได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปนอกจากนี้ยังพบร่วมกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น พันธุกรรม การติดเชื้อในตา ผู้ที่มี สายตาสั้นมากๆ หรือผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ สำหรับโรคจุดภาพชัดเสื่อมระยะลุกลาม สามารถทำให้ตาบอดได้จากการมีเส้นเลือดผิดปกติอยู่ใต้จุดภาพชัด ซึ่งจะรั่วซึมและแตกง่าย ทำให้เลือดออกหรือมีน้ำและ ไขมันรั่วไปสะสมจนเกิดจุดภาพชัดบวม โดยผู้ป่วยจะเริ่มจากมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยว ต่อมาจะเกิดการการทำลายเนื้อเยื่อเซลล์ประสาทตาบริเวณดังกล่าว จนทำให้ผู้ป่วยมองตรงกลางภาพมืดลงในที่สุด

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมียาฉีดเข้าวุ้นตาซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมาเห็นภาพชัดเจนขึ้น หรือทำให้อาการคงที่ซึ่งต่างจากอดีตที่ใช้แสงเลเซอร์ในการรักษา ทำให้การมองเห็นคงที่แต่ไม่สามารถทำให้การมองเห็นดีขึ้น ได้และด้วยวิวัฒนาการด้านการรักษาที่ดีขึ้นมากในปัจจุบัน หากสามารถตรวจพบอาการได้เร็วขึ้นก็จะทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นครอบครัวที่มีผู้สูงวัย จึงควรหันมาให้ความดูแลและใส่ใจผู้สูงอายุ อย่างใกล้ชิดอาจเริ่มต้นด้วยวิธีการตรวจง่ายๆ

โดยให้ผู้สูงอายุลองปิดตาทีละข้าง แล้วมองในระยะไกลๆ หากมีสายตาผิดปกติ เมื่อมองไปไกลๆ จะพบว่าตาแต่ละข้างนั้นจะเห็นภาพต่างกันหรือมีความชัดเจนของ ภาพไม่เท่ากัน ซึ่งอาจเกิดจากโรคตาก็ได้ โดยนอกจากโรคจุดภาพชัดเสื่อมนี้แล้ว ยังอาจเป็นต้อกระจก ต้อหิน ได้อีกด้วย ผู้ใกล้ชิดจึงควรรีบพาท่านมาตรวจกับจักษุแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แน่นอนต่อไป

“ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีนับเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคตาต่างๆ ได้ง่าย จึงควรรับการการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้งส่วนผู้ที่มีอายุน้อยก็ไม่ควรละเลยการดูแลสุขภาพตาเช่นกัน โดยไม่ควรใช้สายตาอ่านหนังสือ อ่านจอ คอมพิวเตอร์ หรือเพ่งหน้าโทรศัพท์มือถือ ติดต่อกันนานๆ ควรพักสายตาทุก 45-60 นาที แล้วจึงค่อยใช้สายตาต่อ นอกจากนี้ การงดสูบบุหรี่ ลดอาหารที่มีไขมันสูง สวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้งเพื่อลดความจ้าของแสงและป้องกันรังสียูวี ก็ยังช่วยถนอมสายตาให้อยู่กับเราได้นานๆ อีกด้วย” นายแพทย์ไพศาล กล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรกว่า 65 ล้านคน โดยมีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 12% และคาดว่าอีก 30 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุถึง 32% ถือเป็นประเทศที่มีการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วมาก ดังนั้นการเตรียมพร้อมด้านมาตรการต่างๆ ทั้งเชิงสุขภาพและสังคม เพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ปัจจัยสำคัญคือลูกหลานของผู้สูงวัย ที่มีความใกล้ชิดเป็นพิเศษ ควรหันมาให้ความสนใจและใส่ใจผู้สูงอายุในครอบครัวตนเองมากขึ้น เพื่อป้องกันอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งโรคทางตาที่มีอัตราการเกิดสูงในกลุ่มผู้สูงอายุ

เรื่องน่าสนใจ