ที่มา: dodeden

หากมีใครพูดคำว่า “เด็กปัญญาอ่อน” ในยุคนี้ ถือว่าเป็นคำเหยียดที่ฟังแล้วไม่น่าจะดูดี คนพูดน่าจะโดนกระแสตีกลับแน่นอน เพราะไทยเราได้มีการรณรงค์ และ ปลูกฝังให้สังคมมองเด็กเหล่านี้ว่าเป็น “เด็กพิเศษ” จึงทำให้สังคมได้มีมุมมอง และ ทัศนคติที่ดีต่อเด็กกลุ่มนี้

ทั้งนี้  เด็กพิเศษ หากเรามองไปรอบตัว จะพบอยู่บ้าง ที่ถูกปล่อยปละละเลยให้อยู่กับบ้าน  มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีโอกาสได้เข้ารับการบำบัดรักษาตามโรงพยาบาลจิตเวชทั่วไป 

เด็กพิเศษ  มักจะถูกมองว่าเป็นปัญหาทางสังคม เพราะรับผิดชอบตนเองไม่ได้ต้องเป็นภาระของครอบครัว โดยเฉพาะบิดา มารดา และญาติ พี่น้องที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษ ไม่มีเวลาออกทำมาหาเลี้ยงชีพ  โดยได้มีการดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาลปัญญาอ่อน ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2503 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกองโรงพยาบาลโรคจิต  กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ตามประวัติศาสตร์นั้น ระบุว่า การตั้งชื่อโรงพยาบาลมี ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว รองอธิบดีกรมการแพทย์ตอนนั้น เป็นผู้เริ่มโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลสำหรับบุคคลปัญญาอ่อน โดยไม่ต้องใช้ศัพท์สันสกฤตหรือบาลีให้ต้องแปลกัน ทุกคนเห็นดีด้วยจึงมีการตั้งชื่อว่า “โรงพยาบาลปัญญาอ่อน” ซึ่งใช้ในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพแก่บุคคลปัญญาอ่อน

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม  ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในโครงการ “สานพลัง สื่อมวลชน สื่อสาร สุขภาพจิตดีสู่สังคม” ซึ่งมีสื่อมวลชนส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค

นำทีมโดย นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ซึ่งมีสองบุคคลสำคัญ ได้แก่ นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองธิบดีกรมสุขภาพจิต และ  แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ เปิดให้ชมนวัตกรรมและการให้บริการทางการแพทย์ให้กับเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า เด็กออทิสติก เด็กสมองพิการ และมีความบกพร่องด้านการเรียนรู้  ณ “อาคารเทพรัตนราชสุดา” อาคาร 4 ชั้น สถาปัตย์รูปทรงเปียโน ที่ให้บริการด้านพัฒนาการและสุขภาพจิตเด็กอย่างครบวงจรแห่งแรกในเอเชีย

ทั้งนี้ นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รอง อธิบดีกรมสุขภาพจิต ในฐานะ อดีต ผอ.สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ที่อยู่มา 20 ปี ได้บุกเบิก และ พัฒนามาตลอด ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญของสถาบันพัฒนาการเด็กฯ กระทั่งในปัจจุบันนี้ ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาศักยภาพเด็กไทยให้แข็งแรง (Health) เก่ง (Head) ดี มีวินัย (Heart) และใฝ่เรียนรู้ มีทักษะ (Hand)

โดยในด้าน “เก่ง” เน้นที่พัฒนาการสมวัย ตั้งเป้า เด็กแรกเกิด-5 ปี มีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 85  ทั้งนี้ ในเด็กปฐมวัยจะเน้นที่การติดตามกระตุ้นพัฒนาการดูแลเด็กอย่างต่อเนื่องทั้งกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาพัฒนาการและเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า

ขณะที่ เด็กวัยเรียน จะเน้น การเฝ้าระวังและดูแลช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์  ยึดชุมชนเป็นฐานสร้างการมีส่วนร่วม โรงพยาบาลชุมชน/ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สามารถดำเนินการพัฒนา IQ/EQ และส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ได้เหมือนกับการดูแลสุขภาพกาย ตลอดจน บุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

รวมทั้ง พ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งเป็นเหมือนหมอประจำครอบครัว จะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้สามารถคัดกรองและกระตุ้นพัฒนาการเด็กในเบื้องต้นได้เช่นเดียวกัน

“ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน ด้วยความร่วมมือจาก 4 กระทรวง และ 2 หน่วยงานหลัก

ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กรมแพทย์ทหารบก และกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจคัดกรองเด็กที่สงสัยล่าช้าในช่วงอายุ 9 เดือน 18 เดือน 30 เดือน และ 42 เดือน ตั้งแต่  1 เมษายน 2558 จะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2561 ดำเนินการคัดกรองไปแล้วทั้งสิ้น 851,581 คน พบ สงสัยล่าช้า 119,645 คน ภายหลังได้รับการกระตุ้น พบว่า กลับมาสมวัย ร้อยละ 97 

ขณะที่ อีกร้อยละ 3  ยังล่าช้า ซึ่งจะตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและให้การดูแลช่วยเหลือต่อไป สำหรับเขตภาคเหนือ พบว่า มีเด็กพัฒนาการล่าช้าเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้น โดยที่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการกระตุ้นพัฒนาการเด็กมีเด็กเข้ารับบริการไม่น้อยกว่า 45,000 คน/ปี  โรคที่พบมากที่สุด ได้แก่ ออทิซึม สมาธิสั้น ปัญหาการเรียน สมองพิการ พัฒนาการล่าช้า

การค้นหาช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงและการดูแลส่งเสริมให้มีพัฒนาการตามวัยที่ถูกต้องเหมาะสม ตั้งแต่ระยะแรกอย่างเป็นระบบมีความสำคัญยิ่ง เพราะจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะ ความสามารถทั้งด้านร่างกายและจิตใจของเด็กได้อย่างเต็มศักยภาพ

หากตรวจพบเร็ว ก็จะช่วยได้เร็ว และช่วยได้ถูกทาง แต่ถ้าเจอช้า และเด็กเติบโตโดยปราศจากการส่งเสริมพัฒนาการอย่างทันท่วงทีแล้ว เด็กจะมีปัญหาอื่นตามมาได้ เช่น เกิดความเครียด แยกตัว ซึมเศร้าหรือมีปัญหาพฤติกรรมต่างๆเพิ่มขึ้นได้ง่าย เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวใช้ชีวิตในครอบครัวหรือสังคมได้” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ด้านบุคคลสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ เจ้าบ้าน หมอป้อ แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ซึ่งเป็นหมอไฟแรงที่ให้ความใส่ใจ ดูแล เด็กๆ ที่เข้ามารักษาในสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์  

คุณหมอป้อ พญ.ดุษฎี  ระบุว่า สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์  เดิมชื่อ ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กภาคเหนือ โดยเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2546 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โปรดเกล้าพระราชทานนามใหม่ว่า สถาบันพัฒนาการเด็กนครินทร์

ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2555 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานนามอาคารว่า “อาคารเทพรัตนราชสุดาฯ หลังจากนั้น ในวันที่ 12 เมษายน 2556 พระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดิษฐานบริเวณป้ายชื่ออาคาร และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคาร ฯ ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2558

ทั้งนี้ เมื่อเดินเข้ามาในตึกเปียโนจะสะดุดตากับหมีแพนด้าขนาดใหญ่ สัญลักษณ์แห่งความสุข ลบภาพของโรงพยาบาลที่อาจดูน่ากลัวสำหรับเด็ก ทำให้เด็กๆ อยากมาที่นี่ เพราะเต็มไปด้วยห้องที่ใช้ดนตรี ศิลปะ รวมทั้งเครื่องเล่นที่ดึงดูดความสนใจพวกเขา

“อาคารเทพรัตนราชสุดา” ประกอบด้วย 4 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นกลุ่มงานฟื้นฟูสมรรถภาพ ประกอบด้วย งานธาราบำบัด บำบัดเด็กสมาธิสั้น เด็กออทิสติก และเด็กที่มีความบกพร่องทางการรับรู้ ศูนย์วิจัยรักษาโรคออทิสติก ร้านจำหน่ายสินค้าเด็กและครอบครัว  งานกิจกรรมบำบัด งานอรรถบำบัดพัฒนาทักษะด้านการพูดแก่เด็ก

ชั้นที่ 2 เป็นงานการศึกษาพิเศษ งานศิลปะ ละครบำบัด และดนตรีบำบัด เสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง ประสาทสัมผัส การได้ยิน การมองเห็น ชั้นที่ 3 ห้องพักผู้ป่วยและครอบครัว

ชั้นที่ 4 เป็นศูนย์ฝึกอบรมสร้างอาชีพแก่เด็กและบุคคลที่มีปัญหาทางด้านพัฒนาการและเปิดบริการห้องพัก 16 ห้อง พร้อมห้องประชุมและห้องอาหาร ผอ.สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กล่าว

จากการที่ได้ดูเทคโนโลยีการให้บริการทางการแพทย์กับเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า รวมทั้งศักยภาพของเจ้าหน้าที่ ครู แพทย์ และสื่อการเรียน สอนต่างๆ ของ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ถือว่าโดดเด่นอย่างมากในเอเชีย ซึ่งในต่างประเทศยังไม่ครบวงจรเท่านี้เลย

รวมทั้ง จะพบว่า นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ  อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้วางระบบการส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี  รวมทั้งผลักดันให้มีการดำเนินงานด้านพัฒนาการเด็กอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปรากฏไว้เป็นผลงานให้ได้เห็นกันจนถึงปัจจุบันนี้

ภาพบางส่วน จากเฟสบุ๊ค  สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต , สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์

เรื่องน่าสนใจ