ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

นักวิชาการออกโรง ระบุ ผลสำรวจเชื้อโรคในค้างคาวทั่วโลกที่ผ่านมา ยัน ไม่พบการแพร่ระบาดหรือติดต่อไปสู่คน เหตุ ค้างคาวตายที่ถ้ำน้ำ จ.กาญจนบุรี คาด เกิดจากอุบัติเหตุทางธรรมชาติ เผย หากมีการแพร่ระบาดของโรคจริง ต้องมีการติดต่อกับค้างคาวถ้ำอื่นก่อน…

EyWwB5WU57MYnKOuXogjN0PGVtGay8hJSWWhcox05cwnni8Ig7XeqS

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 58 นางสาวสุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักวิจัยศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับทีมข่าวไทยรัฐ ว่า สำหรับโรคเมอร์สในค้างคาว ที่อยู่ในความสนใจของสังคมนั้น ที่ผ่านมา นักวิจัยทั่วโลก ได้ตรวจพบเชื้อไวรัสเมอร์ส ในสัตว์ 3 ชนิด ได้แก่ ค้างคาว อูฐ และมนุษย์ โดยยังไม่พบเชื้อไวรัสในค้างคาว หรือ อูฐ ที่จะสามารถติดต่อไปสู่สัตว์อื่นหรือมนุษย์ได้

นางสาวสุภาภรณ์ กล่าวต่อว่า เว้นแต่การค้นพบเชื้อไวรัสเมอร์สจากอูฐ ในประเทศแถบตะวันออกกลาง ที่นำไปสู่การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสในช่วงที่ผ่านมา เช่นเดียวกันกับประเทศไทย ที่นักวิจัยได้ลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อไวรัสเมอร์ส จากอูฐและค้างคาวอย่างต่อเนื่อง เเต่ก็ยังไม่พบว่า มีเชื้อไวรัสจากอูฐหรือค้างคาว ติดต่อไปถึงสัตว์อื่น ซึ่งนั่นรวมถึงมนุษย์ด้วย

ด้านนายสาระ บำรุงศรี หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ภายหลังที่เกิดเหตุการณ์ค้างคาวนับพันตัว ที่ถ้ำน้ำ จังหวัดกาญจนบุรี โดยสันนิษฐานสาเหตุการตายของค้าวคาวเป็น 2 กรณี คือ การตายด้วยโรคระบาด และการตายจากอุบัติเหตุทางธรรมชาติ

โดยลักษณะของค้างคาวที่ตายจากโรคระบาด จะเกิดขึ้นในค้างคาวที่มีร่างกายอ่อนแอ จากนั้นจะแพร่ระบาดไปถึงค้างคาวตัวอื่นในถ้ำ ซึ่งข้อที่สำคัญที่สุด คือ การกระจายของโรคระบาด ส่วนใหญ่จะไม่ทำให้ค้างคาวตายแค่ถ้ำเดียว แต่จะมีการแพร่ระบาดไปถึงถ้ำอื่นๆ ด้วย

นายสาระ กล่าวอีกว่า จากการค้นหาข้อมูลพบว่า ทีมวิจัยที่ตรวจสอบหาเชื้อไวรัสในค้างคาว เคยลงพื้นที่สำรวจถ้ำน้ำ จังหวัดกาญจนบุรี มาแล้วครั้งหนึ่ง และพบว่ามีการระบาดของเชื้อไวรัสที่นี่ ทำให้เบื้องต้นสันนิษฐานว่า ค้างคาวน่าจะตายจากภัยธรรมชาติมากกว่า เพราะเป็นการเกิดเหตุครั้งเดียวแล้วจบ ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานการตรวจพบซากค้างคาว ที่พบว่าทั้งหมดตายในเวลาไล่เลี่ยกัน

“ปัจจุบันทั่วโลกยังไม่มีรายงานว่า มีเชื้อไวรัสในค้างคาวติดต่อไปสู่คนโดยตรง ทั้งนี้ต้องให้ความยุติธรรมด้วยว่า สัตว์ป่าทุกชนิดบนโลกนี้ ก็มีเชื้อโรคเป็นของตัวเอง โดยมนุษย์อยู่ในฐานะผู้เฝ้าระวัง แต่ไม่ใช่ตื่นตระหนก” นายสาระ กล่าว

เรื่องน่าสนใจ