ที่มา: kongjuclinic.com

การฝังเข็ม ( Acupuncture) เป็นการแพทย์ทางเลือกแขนงหนึ่ง โดยการฝังเข็มเข้าไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย ป้องกันโรค รวมถึงเสริมสุขภาพ การฝังเข็มเป็นแขนงหนึ่งของการแพทย์แผนจีน ซึ่งมีประวัติได้ยาวนานหลายพันปีและยังมีรูปแบบที่แตกต่างกันมากมาย

จุดฝังเข็ม

จุดฝังเข็มบนร่างกายมนุษย์มีอยู่หลายร้อยจุด แต่จุดที่มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจน ในเอกสารตำราแพทย์จีนโบราณ จะมีอยู่จำนวน 349 จุด บนเส้นลมปราณ (meridian) หลักๆ 12 เส้นหลักและอีก 2 เส้นรอง จำนวนเส้นลมปราณในร่างกายแต่ละข้าง (ขวา-ซ้าย) มี 12 เส้น โดยแบ่งเป็นส่วนของแขน 6 เส้น และส่วนของขาอีก 6 เส้น (ส่วนอีก 2 เส้นรองจะอยู่ตรงกลางหลังและตรงกลางหน้าท้อง) ในส่วนของแขน 6 เส้น ก็จะจับคู่กันเองเป็น 3 คู่ เช่นเดียวกับขาก็จะจับคู่กันเองเป็น 3 คู่ แต่ละเส้นจะมีชื่อเรียกและหน้าที่ของมันอย่างชัดเจน

การฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร

ตามทฤษฎีแพทย์แผนจีนเชื่อว่า การฝังเข็มทำให้เกิดการหลั่งของสารชีวเคมีในร่างกายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อร่างกายในแง่ช่วยระงับอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดและระบบลมปราณไหลเวียนดีขึ้น ปรับระดับไขมันและสารเคมีอื่น ๆ ในร่างกายให้อยู่ในสภาพสมดุล รวมทั้งเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย นอกจากนี้การศึกษาของแพทย์แผนปัจจุบันพบว่าการฝังเข็มทำให้เกิดการหลั่งสาร “เอนเคพฟาลีน และเอนดอร์ฟิน” ซึ่งจะไปช่วยระงับอาการปวดได้ กับสารที่เรียกว่า “ออโตคอย” ที่คอยช่วยลดอาการอักเสบได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังช่วยทำให้หลอดเลือดบริเวณที่ปักเข็มขยายตัวเท่านั้น แต่หลอดเลือดฝอยทั่วร่างกายก็จะมีการขยายตัวอย่างเหมาะสม ทำให้เนื้อเยื่อทั่งร่างกายได้รับสารอาหารและขจัดของเสียที่คั่งค้างได้ดีกว่าและยังสามารถออกฤทธิ์กระตุ้นเพื่อปรับการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไปจากจุดฝังเข็มได้อีกด้วย

การฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง

  • กลุ่มอาการปวดต่าง ๆ เช่น ปวดหลัง ปวดเข่า ข้อเข่าเสื่อม ปวดเอว ปวดไหล่ ปวดคอ
  • ปรับสมดุลรักษาสิวจากฮอร์โมน สิวอักเสบ ฝ้า หน้าใส
  • หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กล้ามเนื้ออักเสบจากการเล่นกีฬา
  • โรคซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ ปวดศีรษะจากความเครียด ปวดไมเกรน
  • อัมพาต อัมพฤกษ์ โดยร่วมกับการฟื้นฟูสมรรถภาพ
  • โรคภูมิแพ้ หืดหอบ และผื่นคันตามร่างกาย
  • อาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ปวดประจำเดือน
  • โรคอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

การฝังเข็มเหมาะสมกับใคร?

การฝังเข็มเป็นการรักษาที่เหมาะกันทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะ

  • ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรับการรักษาด้วยการใช้ยาซึ่งเป็นการเพิ่มสารเคมีจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาหลาย ๆ ชนิด
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการทำปฏิกิริยาต่อกันของยา
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาหยุดยาที่ใช้รักษาโรคไม่ได้ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ปวด ยาระบาย เป็นต้น
  • ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องกระดูกและข้อเข่า แต่ไม่ต้องการรับการผ่าตัด
  • ผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาแบบผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนตะวันตกกับการฝังเข็ม
  • ผู้ที่ต้องการเสริมสร้างสุขภาพโดยการปรับสมดุลภายในร่างกาย

ข้อห้ามในการฝังเข็มมีอะไรบ้าง

  • โรคเลือดที่มีความผิดปกติของระบบแข็งตัวของเลือด
  • โรคที่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างแน่นอน
  • โรคมะเร็ง (ที่ยังไม่ได้รับการรักษา)
  • โรคที่ยังไม่ทราบการวินิจฉัยที่แน่นอน
  • ตั้งครรภ์

ต้องเตรียมตัวก่อนมารับการฝังเข็มอย่างไร

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อ่อนเพลีย
  2. ไม่หิวหรืออิ่มเกินไป
  3. สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่น สามารถรูดขึ้นเหนือศอกและเหนือเข่าได้
  4. ไม่มีโรคที่เป็นข้อห้ามในการฝังเข็ม
  5. ขณะฝังเข็มถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งแพทย์ทันที

ระยะเวลาที่ใช้สำหรับการฝังเข็มนานเท่าไร

ประมาณ 30 นาที ต้องมาฝังเข็มสัปดาห์ละ 1–3 ครั้ง และต่อเนื่องระยะหนึ่งแล้วแต่โรคที่เป็นตามการพิจารณาของแพทย์

การฝังเข็มทำอย่างไร เจ็บหรือไม่

ในขณะที่เข็มผ่านผิวหนัง จะมีอาการเจ็บคล้ายมดกัด และเมื่อเข็มแทงลึกลงไปถึงตำแหน่งของจุดฝังเข็ม จะมีอาการตื้อ ๆ หน่วง ร้าวไปตามทางเดินของลมปราณ ขณะที่มีเข็มปักคาร่างกายนั้น ควรนั่งหรือนอนนิ่ง ๆ ไม่ควรขยับเคลื่อนไหวส่วนของร่างกายที่มีเข็มปักคาอยู่ เพราะอาจทำให้เข็มงอหรือหักคาเนื้อได้ ยกเว้นการขยับตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังสามารถทำได้ แต่ร่ากายส่วนอื่น ๆ ที่ไม่มีเข็มปักอยู่นั้น สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ตามสบาย

การปฏิบัติตัวหลังการรักษา

หลังจากปักเข็มกระตุ้นครบเวลาตามกำหนด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีแล้ว แพทย์ก็จะถอนเข็มออก บางครั้งอาจมีเลือดออกเล็กน้อย ตรงจุดที่ปักเข็มเหมือนกับเวลาไปฉีดยา เนื่องจากเข็มอาจปักไปถูกเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ เมื่อใช้สำลีกดเอาไว้สักครู่เลือดก็จะหยุดได้เอง

หลังเสร็จสิ้นจากการรักษา โดยทั่วไปแล้วไม่มีข้อห้ามเป็นพิเศษอะไรเลย ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาการอาบน้ำ ทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ตามปกติ ยกเว้นในกรณ๊ที่ติดเข็มคาใบหู เวลาอาบน้ำต้องระมัดระวังมิให้ใบหูเปียกน้ำ

โดยทั่วไปแล้วหลังจากฝังเข็ม ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องกลับไปนอนพักที่บ้านแต่อย่างไร สามารถขับรถหรือกลับไปทำงานได้ เว้นแตบางคนอาจมีอาการอ่อนเพลียได้บ้างหลังจากฝังเข็ม เมื่อนอนพักแล้วก็จะหายไปได้


Clinic :094-948-2226

 

เรื่องน่าสนใจ