ที่มา: Kapook.com

จากกรณีที่ นายสุภัฒ สงวนดีกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ก่อเหตุขโมยภาพที่ญี่ปุ่น ก่อนจะถูกปล่อยตัวกลับถึงไทยแล้ว ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีคำสั่งให้ข้าราชการคนดังกล่าวมาช่วยงานที่สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ระหว่างรอผลสอบ ท่ามกลางความคาใจของประชาชนว่าคดีดังกล่าวจะมีการลงโทษที่สมเหตุสมผลหรือไม่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2560 สำนักข่าวสปริงนิวส์ ได้เผยกฎของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2539 ว่าด้วยความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ของข้าราชการ ข้อ 3 และข้อ 4 ระบุ การกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และไม่ร้ายแรง ไว้ดังนี้

กระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ที่ถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง คือ การกระทำความผิดอาญาจนต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้นั้นกระทำความผิด หรือ กระทำความผิดอย่างไม่ร้ายแรงและได้รับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาหรือให้ถ้อยคำรับสารภาพต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนหรือคณะกรรมการสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และได้มีบันทึกถ้อยคำรับสารภาพเป็นหนังสือ

ขณะที่กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ที่ถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง คือกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือให้ลงโทษหนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ รวมทั้งการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกิน 15 วัน และผู้บังคับบัญชาสืบสวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบทางราชการ

สำหรับกรณีของ นายสุภัฒ แม้จะถูกตำรวจญี่ปุ่นจับกุมตัวจากเหตุลักทรัพย์ แต่อัยการญี่ปุ่นไม่ได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาล และศาลยังไม่ตัดสิน จึงเข้าข่ายความผิดกระทำความผิดอย่างไม่ร้ายแรง กรณีนี้ตามกฎในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 จะมีโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน โดยจะถูกสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ หรือตัดเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกิน 5% เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน หรือลดขั้นเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกินหนึ่งขั้น

เรื่องน่าสนใจ