รักษาต้อกระจก ด้วยการผ่าตัด ข้อดีของวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า เราเชื่อว่าหลายคนคงจินตนาการไม่ออกว่า หากวันหนึ่งโลกที่คุณกําลังมองเห็นอยู่อย่างชัดเจนนี้จะค่อยๆ เลือนราง และดับมืดลงไป ด้วยโรคที่มักเกิดพร้อมๆ กับความเสื่อมของร่างกายที่เพิ่มขึ้นไปตามวัยอย่าง โรคต้อกระจก ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับเลนส์แก้วตา ทําให้เลนส์แก้วตาเกิดความขุ่น จนแสงไม่สามารถทะลุผ่านไปยังจอประสาทตาได้อย่างเต็มที่ โดยในระยะแรก จะไม่มีอาการที่ส่งสัญญาณบอกอย่างเด่นชัด คืออาจจะมีการมองเห็นที่ไม่ชัดเจนไปบ้าง แต่ไม่มีอาการเจ็บปวด ซึ่งเมื่อเป็นมากขึ้น จะเริ่มมีอาการตามัวมากขึ้น จนคล้ายกับมีหมอกมาบัง โดยเฉพาะเมื่อเจอแสงสว่างหรือแสงแดด ก็จะรู้สึกตัวมากยิ่งขึ้น บางรายอาจพบว่าค่าสายตามีการเปลี่ยนแปลง
รักษาต้อกระจกแบบใช้การผ่าตัด
หลักการของการรักษาต้อกระจกด้วยวิธีผ่าตัดก็คือ การผ่าตัดเอาต้อกระจกออก แล้วใส่เลนส์เทียมเข้าไปในตวงตา เพื่อให้สามารถกลับมามองเห็นได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันมีหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เลเซอร์ช่วยในการผ่าตัดแทนการใช้ใบมีด หรือการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ในการสลายต้อกระจก ซึ่งเทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยและการรักษาต้อกระจก จะประกอบด้วย
– Reference Unit
สําหรับถ่ายภาพตวงตาก่อนการผ่าตัด พร้อมทําการวัดข้อมูลที่จําเป็นสําหรับการผ่าตัด เช่น ค่าความโค้งกระจกตา รูม่านตา แกนการมองเห็นของดวงตา แล้วนําค่าที่ได้มาวิเคราะห์พร้อมวางแผนการผ่าตัด ที่เฉพาะเจาะจงสําหรับแต่ละคน
– Digital Marker
เครื่องกําหนดตําแหน่งการใส่เลนส์เทียมระบบดิจิตอล ข้อมูลผู้ป่วยของเราจาก Reference Unit จะถูกส่งผ่านมายังเครื่อง Digital Marker ซึ่งอยู่ในห้องผ่าตัด ขณะผ่าตัด เครื่องจะสร้างภาพด้วยระบบดิจิตอล เพื่อให้แพทย์ทราบตําแหน่งที่จะผ่าตัด กําหนดขนาดถุงหุ้มเลนส์ที่ต้องการเปิด กําหนดตําแหน่งและแกนของเลนส์เทียม ที่ใส่ทดแทนได้อย่างถูกต้อง แม่นยํา
………………………………………………………………..
แม้จะมีเทคโนโลยีที่ช่วยทําให้คนที่ป่วยเป็นโรคต้อกระจกมีความปลอดภัยในการรักษามากยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากเราตรวจพบได้เร็ว จะสามารถรักษาให้หายได้อย่างทันท่วงที และไม่เสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็น ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้น การดูแลเอาใจใส่สุขภาพดวงตา โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ จึงถือเป็นสิ่งสําคัญ ที่เราควรตระหนัก เริ่มต้นง่ายๆ คือการพาท่านไปพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพดวงตา อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจําตัว เช่น เบาหวาน หรือคนทั่วไปที่อายุ 45 ปีขึ้นไป ก็ควรพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเช่นเดียวกัน
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก The Thai Red Cross Society
เนื้อหาโดย Dodeden.com