รักษามะเร็งด้วยคลื่นความร้อน ตัวช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง คืออีกหนึ่งความท้าทายในวงการแพทย์ ที่จะต่อสู้กับโรคร้ายนี้ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเสริมการรักษา ทําให้การรักษามะเร็งด้วยความร้อน จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทาง ที่ช่วยให้การรักษาหลักอย่างการให้ยาเคมีบําบัด และการฉายรังสีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในผู้ป่วยบางราย ก็ปฏิเสธการฉายรังสี และการทําเคมีบําบัด เนื่องด้วยหวาดกลัวผลข้างเคียง ที่ส่งผลต่อทั้งร่างกายและสภาพจิตใจ

รักษามะเร็งด้วยคลื่นความร้อน
ภาพจาก coroflot.com

รักษามะเร็งด้วยคลื่นความร้อน ตัวช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การรักษาโรคมะเร็งโดยการให้ความร้อนไปยังก้อนมะเร็งนั้น มีแหล่งกําเนิดความร้อนที่แตกต่างกัน ดังนั้น คุณสมบัติในการให้ความร้อนจึงต่างกันด้วย ความร้อนที่เกิดจากการใช้คลื่นอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) มีข้อจํากัดตรงที่คลื่นอัลตร้าซาวด์ มีความสามารถในการเดินทางผ่านกระดูกและอากาศได้ไม่ดี มะเร็งที่อยู่ใต้กระดูก หรืออยู่ในบริเวณที่เป็นอากาศ เช่น มะเร็งปอด ก็ไม่สามารถรักษาได้ ส่วนคลื่นไมโครเวฟ (Microwave) รักษาได้เฉพาะมะเร็งที่อยู่บริเวณผิวตื้นๆ เท่านั้น แต่สําหรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือคลื่นวิทยุ (Radio Frequency) ที่ความถี่ 8 เมกะเฮิรตซ์ สามารถรักษามะเร็งได้ครอบคลุมกว่าทั้งที่อยู่ตื้นๆ และลึกลงไปได้ถึง 15 เซนติเมตร เกือบทุกตําแหน่ง ด้วยความพิเศษของคลื่นวิทยุ จึงถูก พัฒนาเป็นเครื่องมือในการรักษามะเร็งที่เรียกว่า เทอร์โมตรอนอาร์เอฟแปด (Thermotron RF8) ที่กระจายความร้อนอุณหภูมิประมาณ 42 – 43 องศาเซลเซียส ไปยังบริเวณที่เป็นมะเร็ง เป็นระยะเวลาประมาณ 50 – 60 นาที แต่ก็มีความกังวลของผู้ป่วยว่า เซลล์อื่นที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง จะถูกความร้อนนี้ทําลายไปด้วยหรือไม่

รักษามะเร็งด้วยคลื่นความร้อน

เซลล์ที่เป็นมะเร็ง จะมีเส้นเลือดมาเลี้ยงเป็นจํานวนมาก แต่เป็นเส้นเลือดที่มีความแข็งตัวค่อนข้างสูง ขาดความยืดหยุ่น ทําให้การถ่ายเทความร้อนได้ไม่ดี จึงทําให้อุณหภูมิในก้อนเนื้องอกสูงขึ้น และเกิดการตายของเซลล์มะเร็งตามมา ในขณะที่เซลล์ปกติ จะสามารถระบายความร้อนได้ดี เพราะมีเส้นเลือดที่ยืดหยุ่นตามธรรมชาติของระบบร่างกาย ความร้อนจะผ่านออกไปอย่างรวดเร็ว จึงไม่ทําลายเซลล์ปกติ

การรักษามะเร็งด้วยคลื่นความร้อน เป็นการรักษาเฉพาะส่วน เช่น บริเวณช่องท้อง ทรวงอก ยกเว้นบริเวณศีรษะ ตา เพราะ ระบายความร้อนได้ไม่ดีนัก รวมทั้งผู้ที่เคยผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอาจไปรบกวนการควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ และผู้ที่มีโลหะ หรือเหล็กเพื่อดามกระดูก ทั้งนี้ยังพบว่าเมื่อเซลล์มะเร็งที่ได้รับคลื่นความร้อน จะตอบสนองต่อการฉายรังสี และช่วยทําให้เซลล์มะเร็งมีการดูดซึมยาเคมีบําบัดได้ดีขึ้น

………………………………………………………………..

ดังนั้น การรักษาด้วยคลื่นความร้อน จึงเป็นการรักษาเสริม ที่ช่วยให้การรักษาตามแนวทางมาตรฐานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

ป้ายกำกับ:

เรื่องน่าสนใจ