ที่มา: ครอบครัวข่าว

เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ จากร่างกายที่เคยแข็งแรงก็มีโรคต่าง ๆ เข้ามารุมเร้า หนึ่งในโรคที่สามารถรักษาและป้องกันได้ทันเวลาคือ ภาวะกล้ามเนื้อพร่องในผู้สูงอายุ แพทย์แนะการออกกำลังกายที่เหมาะสมและการกินอาหารที่เพียงพอจะช่วยห่างไกลจากภาวะกล้ามเนื้อพร่องได้

00

“ภาวะกล้ามเนื้อพร่องในผู้สูงอายุ” พบมากในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยจะเป็นมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งภาวะกล้ามเนื้อพร่องในผู้สูงอายุ คือ ภาวะที่ร่างกายมีมวลกล้ามเนื้อลดลงและมีการเพิ่มขึ้นของไขมัน ซึ่งจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ อาทิ การสูญเสียสมรรถภาพความสามารถทางกายไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพิ่มโอกาสการหกล้ม รวมถึงการเกิดกระดูกหักได้มากขึ้น

ด้าน รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า เพื่อป้องกันและรู้เท่าทันโรค ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจคัดกรองภาวะกล้ามเนื้อพร่อง ด้วยการตรวจกำลังกล้ามเนื้อมือ หรือขา การตรวจวัดอัตราเร็วในการเดิน และการตรวจวัดมวลกล้ามเนื้อ

02

สำหรับผู้สูงอายุที่พบว่า มีภาวะกล้ามเนื้อพร่อง สามารถรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้ง การออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะ ๆ การเต้นแอโรบิคและการว่ายน้ำ

อีกทั้งยังสามารถออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน เช่น การยกน้ำหนัก โหนบาร์ หรือการวิดพื้น หรือแม้แต่การออกกำลังกายแบบฝึกการทรงตัว เช่น การเดินต่อส้น เดินถอยหลัง เดินส้นเท้า และเดินปลายเท้า จะช่วยบริหารให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นแข็งแรง เพราะหากไม่ทำกิจกรรมใด ๆ หริอแม้การนอนเฉยๆเพียง 7 วันจะพบการสูญเสียมวลกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ การกินอาหารที่มีโปรตีน กรดอะมิโนและวิตามินดีที่เพียงพอ จะช่วยให้มีกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ กรดอะมิโน ที่พบมากในถั่วเหลือง เนื้อไก่สุก เมล็ดฟักทองและถั่วขาว และวิตามินดี จากปลาแซลมอน นมสด ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง และการได้รับแสงแดดที่เพียงพอ

เรื่องน่าสนใจ