ศัลยกรรมพลาด หน้าพัง ใครไม่อยากเจอปัญหานี้ มาฟังคำแนะนำจากหมอ

ศัลยกรรมพลาด หน้าพัง ใครไม่อยากเจอปัญหานี้เมื่อก่อนเรามีมาตรฐาน จนกระทั่งเมื่อสัก 4-5 ปี หรืออาจจะนานกว่านี้หน่อย มันเริ่มแปรปรวน เพราะหมอที่เข้ามาทำศัลยกรรมเริ่มมีมากขึ้น และประเทศเราผลิตหมอที่ผ่านงานศัลยกรรมที่จะเข้ามาทำในเรื่องของความงาม ผลิตได้ไม่พอเพียง มันก็จะมีหมออีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ใช่หมอศัลย์โดยตรง แต่ได้ใบประกาศมาใบหนึ่ง มาถึงก็ทำเลย

ท่ามกลางค่านิยมการทำศัลยกรรมสมัยนี้ มีนายแพทย์ผู้หนึ่งซึ่งยืนอยู่บนเส้นทางสายนี้มาตั้งแต่ยุคต้นๆ จนถึงยุคเฟื่องฟู และ… “ฟุ่มเฟือย” นั่นคือคำกล่าวของนายแพทย์ผู้นี้ “นายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์”ด้วยตำแหน่ง “นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย” และความเชี่ยวชาญระดับอยู่ในวงการมานานกว่าสี่สิบปี รวมถึงความน่าเชื่อถือขนาดที่สื่อต้องขอความเห็นทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ในแวดวงศัลยกรรม คงเป็นคำอธิบายถึงสถานะของนายแพทย์ผู้นี้ได้เป็นอย่างดี โดยที่เราไม่จำเป็นต้องบรรยายอะไรให้ยืดยาว

dr.cholatis

• ช่วงหลังๆ มา ดูเหมือนว่ากระแสข่าวเกี่ยวกับความผิดพลาดของการผ่าตัดศัลยกรรมจะถี่มาก คุณหมอมีความคิดเห็นเกี่ยวกับประปรากฏการณ์นี้อย่างไร
คือจริงๆ แล้ว เรื่องศัลยกรรมผิดพลาดก็มีมานานแล้วนะ เพียงแต่ว่าสมัยก่อนมันไม่มีพวกโซเชียลมีเดียหรือสื่ออิเล็คทรอนิกส์อย่างทุกวันนี้ เป็นเรื่องเป็นราวที ก็ไปโผล่ที่สถานีตำรวจ หรือไม่ก็ไปโผล่ที่แพทยสภา แล้วหนังสือพิมพ์ค่อยหยิบมาทำข่าว แต่ถามว่าทุกวันนี้ อัตรามันเพิ่มขึ้นไหม ก็เพิ่มขึ้น

• คุณหมอมองว่าอัตราความผิดพลาดที่เพิ่มขึ้น เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง
อันดับแรกเลย คือจำนวนคนทำศัลยกรรมเพิ่มมากผิดปกติ ผมใช้คำว่า “ผิดปกติ” แล้วก็ผิดปกติแบบน่าตกใจและน่าเป็นห่วงด้วย เพราะไม่คิดว่ามันจะบูมแบบสะบั้นหั่นแหลกได้อย่างนี้ คือบูมจนกระทั่งว่า สำนักข่าวของญี่ปุ่นเขาถึงกับเดินทางมามาสัมภาษณ์วงการแพทย์เมืองไทย เพราะเขาแปลกใจว่าทำไมคนไทยจึงแย่งกันทำศัลยกรรมกันมากมายขนาดนั้น ส่วนตัวผมก็คิดว่ามันเป็นผลมาจากสื่อต่างๆ นี่แหล่ะ โดยเฉพาะพวกโซเชียลมีเดีย

สื่อพวกนี้มันไปถึงเร็ว พอไปถึงเร็วมันก็เหมือนเป็นแฟชั่นน่ะ จะเรียกว่าคลั่งก็ได้ ทำกันแบบไม่หยุดไม่หย่อน ทำแล้วทำอีก แล้วก็เกิดค่านิยมตามกันไป เช่น เห็นคนนั้นทำ ฉันก็ต้องทำ คนนั้นสวย ฉันก็ต้องสวยด้วย คนนี้ไปเติม ฉันก็ต้องไปเติม เดี๋ยวนี้จะเห็นว่าแม้แต่เด็กๆ ก็ไม่ใช่แค่รักษาสิวฝาแล้วนะ แต่ไปฉีดฟิลเลอร์ ไปฉีดโบท็อกซ์ ซึ่งบางที ในกรณีของเด็ก มันไม่มีข้อบ่งชี้ว่าต้องให้ไปทำเลย ไปฉีดโบท็อกซ์เพื่อให้ผิวดี ให้อย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งมันไม่มีข้อบ่งชี้ แต่เด็กก็ไปฉีดกันเอง แล้วศัลยกรรมในเด็ก เราพบว่าเด็กที่ไปผ่าตัดศัลยกรรม อายุจะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเด็กยุคนี้ พออายุ 12-13-14 เริ่มจะเป็นสาว พวกเขาก็บริโภคสื่อจากอินเตอร์เน็ตจากอะไรทั้งหลาย มันก็พากันไปหมดเลย

• เด็กยุคนี้ไปทำศัลยกรรม ทั้งที่ไม่มีข้อบ่งชี้ ในคำพูดของคุณหมอ อธิบายเพิ่มเติมหน่อยครับว่ามันคืออะไรยังไง
ปกติ ข้อบ่งชี้ในเด็กมันมีนิดเดียวเท่านั้นเอง เช่น เป็นสิวฝ้าโอเค อันนี้รักษาได้ เรื่องผิวพรรณดีอยู่แล้ว ถ้าไม่มีสิวไม่มีฝ้านะ จะไปฉีดโบท็อกซ์ฉีดอะไร มันไม่มีข้อบ่งชี้ เดี๋ยวนี้ฉีดกันพร่ำเพรื่อไปหมดเลย ตามกระแส เห็นใครไปทำ ก็ทำตาม ทีนี้สำหรับเยาวชนที่โตขึ้นมาหน่อย อายุ 18-20 ปีแล้ว พวกนี้ก็อาจจะมาใช้วิธีศัลยกรรม เช่น คนไทยก็ทำอยู่แค่สองอย่าง หลักๆ เลยนะ คือทำตากับจมูก นี่ก็พอแล้ว

แต่เดี๋ยวนี้ มันไม่ใช่แค่นั้นแล้ว คือพากันไปทำหน้าเรียว ไปทำโหนกแก้มยุบ จะไปทำส่วนโน่นส่วนนี้ ซึ่งมันอันตรายทั้งนั้นแหละ ส่วนที่ทำง่ายก็มีอยู่แค่ทำตากับจมูกนี่ล่ะ คือความอันตรายมันก็มีอยู่ในตัวของมันนะ แต่ไม่รุนแรง แต่ที่เราเห็นมีข่าวรุนแรงก็คือการไปทำหน้าให้เรียว เพราะมันต้องตัดกระดูก คือผ่าตัดกระดูกนี่เรื่องใหญ่นะ มันไม่ใช่เนื้อนิดๆ หน่อยๆ มันไม่ปลอดภัยด้วย 100% ครับ ผมก็แปลกใจนะว่าเด็กพวกนี้ไม่กลัวเจ็บไม่กลัวตายกันเลยเหรอ มันแปลกมากเลยนะ ผมงงมาก เขาอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องง่ายๆ หรือเปล่า

botox injection in female skin
• อะไรที่คุณหมอกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับค่านิยมนี้ในหมู่เด็กๆ
ทำแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง…และที่สำคัญ ทำแล้วทำอีก ทำไม่รู้จักจบ เมื่อเป็นเช่นนี้ สักวันหนึ่งมันจะต้องมีคำว่า “ความผิดพลาด” เกิดขึ้นจนได้ ในทางการแพทย์ ความผิดพลาดถือเป็นเรื่องปกติเลยนะ แต่อัตราการผิดพลาดมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับแพทย์แต่ละท่านด้วย

• แสดงว่าแพทย์แต่ละท่าน ก็ใช่ว่าจะเชี่ยวชาญเหมือนกันทุกคน
ผมว่าตรงนี้ต้องมองให้ลึก อันแรกเลย คือประสบการณ์ของแพทย์คนนั้นๆ ต้องนับทั้งเวลาและจำนวนเคส เรื่องเวลาก็อย่างเช่น ทำมาเป็นสิบปีแล้ว จำนวนเคสก็หลักหลายร้อย หลายพัน บางคนถึงหลักหมื่น อย่างนี้ก็จะมีความแม่นยำสูง

ถ้าเราไปเทียบกับวงการนักบิน นักบินเขาจะนับชั่วโมงการบิน แล้วเขาก็จะดูทางด้านวุฒิด้วย คุณฝึกมาทางไหน คุณก็ต้องบินอย่างนั้น แล้วก็ทำชั่วโมงให้มาก เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เราเป็นหมอ คนไข้ก็เหมือนผู้โดยสาร เราเหมือนกัปตันเครื่องบิน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องคิดตลอดเวลา คือ หนึ่ง กัปตันเครื่องบินจะบินได้ต้องมีใบอนุญาต ใบอนุญาตก็มีหลายขั้นตอน มีหลายศักดิ์ ศักดิ์หรือในภาษาอังกฤษคือ แรงค์ (Rank : ระดับ) มันมีหลายระดับ หมอก็เหมือนกัน มีใบประกอบศิลป์หนึ่งใบ ก็เหมือนกับว่าขับอะไรก็ได้ แต่เป็นการขับเคลื่อนชีวิต ผู้โดยสารก็คือคนไข้ แต่ชั่วโมงบินคุณหมอต้องเยอะด้วยนะ นอกจากการมีวุฒิ

แต่มันก็น่าแปลกใจนะ บางคนมีวุฒิ มีใบประกอบโรคศิลป์ และมีวุฒิบัตร มีประกาศณียบัตร โอ้โห แปะไว้เต็มร้านเลย แต่ชั่วโมงบินน้อย ฉะนั้น ทำออกมาแล้วอาจจะพลาด บางคนอาจจะมีวุฒิน้อย เช่นมีใบประกอบโรคศิลป์ใบเดียว แต่ชั่วโมงบินเขามาก ความผิดพลาดเขาก็น้อย

• แล้วหมอผ่าตัดศัลยกรรมบ้านเรา มีมาตรฐานควบคุมอะไรยังไงไหม
อันนี้ถามถูกใจมากเลย จริงๆ แล้ว เมื่อก่อนย้อนไป 30-40 ปี เรามีมาตรฐาน จนกระทั่งเมื่อสัก 4-5 ปี หรืออาจจะนานกว่านี้หน่อย มันเริ่มจะแปรปรวน เพราะเหตุว่า หมอที่เข้ามาทำศัลยกรรมมันเริ่มมีมากขึ้น แต่จริงๆ ประเทศเราผลิตบุคลากรหมอที่ผ่านงานศัลยกรรมที่จะเข้ามาทำในเรื่องของความงามนี่ มันผลิตได้ไม่พอเพียง มันก็จะมีหมออีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ใช่หมอศัลย์โดยตรง ไม่ได้ผ่านสายศัลยกรรม ได้ใบประกาศมาใบหนึ่ง มาถึงก็ทำเลย

• เพราะเห็นโอกาสช่องทางสร้างรายได้?
ใช่ๆๆ เป็นพวกหมอพาณิชย์ เห็นโอกาสในการทำธุรกิจซึ่งบังเอิญว่ากำลังบูม นักลงทุนหรือนายทุนมีเงินหน่อย ก็ไปจ้างหมอที่อาจจะยังไม่ได้ผ่านการฝึกอบอรม ก็เฮมาทำกัน

• แพทยสภารู้เรื่องนี้หรือเปล่า
รู้หมด แต่แพทยสภาทำอะไรไม่ได้ เพราะกฏหมายมันเปิดกว้างมาก แพทยสภาเขียนกฏหมายไว้ว่า มีใบอนุญาตโรคศิลปะ ทำได้ทุกอย่าง ซึ่งถ้าไปเทียบกับใบอนุญาตการบิน ก็หมายถึง บินได้ทุกเครื่อง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ผมว่ามันไม่ใช่นะ เพราะอยู่ๆ คุณบินเครื่องบินเล็ก จะไปบินเครื่องบินขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ไปบินเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ มันไม่ได้นะ ต้องฝึกไปทีละแบบ ถ้าจะเปลี่ยนไปบินแบบใหม่ ก็ต้องไปเริ่มต้นฝึกใหม่อีก นักบินเขาคลุมมาตรฐานตามประเภทของเครื่องบิน กับจำนวนชั่วโมงบิน เพราะถึงแม้จะเปลี่ยนแบบเครื่องบินได้แล้ว ก็ต้องไปทำชั่วโมงให้ได้ก่อนอีก แต่ในสายการบิน เขาจะมีความซื่อสัตย์ในตัวเอง ทุกครั้งที่บิน เขาจะบันทึกด้วยตัวเขาเอง จะมีการบันทึกในสมุด แล้วก็บันทึกชั่วโมง วันนี้บินได้ 5 ชั่วโมง ก็ลงบันทึกไว้ 5 ชั่วโมง เขาจะไม่หลอกตัวเอง

• ถ้ามีอะไรอยากฝากไปถึงแพทยสภา คุณหมอจะฝากอะไร
ผมคิดว่าแพทยสภาควรจะกำหนดจำนวนชั่วโมงเข้าไปด้วย แล้วก็กำหนดแบบด้วย อย่างเช่น ถ้าผ่าตัดแบบนี้ ต้องผ่านกระบวนการเป็นศัลยแพทย์มาก่อน แล้วค่อยมาทำ อย่างนี้ควรจะมีด้วยในตัวบทกฎหมาย แต่ที่ผ่านมา แพทยสภาบอกว่า มีใบประกอบโรคศิลป์ทำได้ทุกโรค แพทยสภาก็เลยทำอะไรไม่ออกเหมือนกันตอนนี้ เพราะว่าจะไปออกกฏระเบียบมันก็จะไปขัดตัวแม่ ส่วนพวกหมอเด็กๆ เล็กๆ เขาก็ถือว่าเขามีสิทธิ์ตามกฎหมาย

แต่ผมก็เชื่อนะว่า วันหนึ่งข้างหน้า การออกระเบียบ การออกข้อจำกัดคงจะมี เชื่อว่าจะมี แต่ก็ไม่รู้รูปแบบไหนนะ ผมก็ขอเสนอตัวอย่างของการผลิตนักบินเพื่อให้ผู้โดยสารปลอดภัย ซึ่งควรจะนำมาใช้ในการผลิตแพทย์เพื่อให้คนไข้ปลอดภัยเหมือนกัน เอาความปลอดภัยมาก่อน

• ทั้งหมดที่พูดมา เหมือนคุณหมอจะบอกว่าเดี๋ยวนี้มีหมอผ่าตัดที่ไม่ได้จบสายผ่าตัดมาโดยตรง แต่มาทำงานผ่าตัดศัลยกรรมความสวยความงาม
เอาเฉพาะสายศัลยกรรมนะ เยอะเลยล่ะ เยอะเลย แต่ไม่สามารถจะบอกจำนวนได้ แต่ถามว่าตามกฏหมายก็อย่างที่พูดเมื่อสักครู่ มาตรา 4 เขาเรียกว่าบัญญัตวิชาชีพเวชกรรม มันเปิดกว้างมาก พอเปิดกว้าง มันก็คุมไม่อยู่ จุดบอดมากเลย แต่แปลกนะในอเมริกาคุมอยู่

• อเมริกาเขาใช้ระบบอะไรแบบไหน เขาถึงคุมอยู่
กฏหมายของอมเริกาเขาแรง และมีระบบประกันที่ชัดเจน ตัวบริษัทประกันจะทำหน้าที่ในการไปคุ้มครองหมอ ในขณะเดียวกันเขาก็คุ้มครองคนไข้ด้วย ขณะที่เขาคุ้มครอง เขาจะเช็กหมอเลย คุณหมอคุณทำพลาดมากี่ครั้งแล้ว คุณเรียนอะไรมา เอาประวัติคุณมาดูซิ คุณจะมาซื้อประกันผม เอาประวัติมาดูหน่อย คุณเป็นหมอทั่วไปหรือเปล่า คุณจบศัลยกรรมอะไรมา คุณมีประสบการณ์เท่าไหร่ เขาอาจจะไม่รับประกันก็ได้ ถ้าไม่รับประกันปุ๊บ คลินิคนี้ก็จะขึ้นป้ายบริษัทประกันไม่รับ ถามคนไข้หน่อยว่าคนไข้กล้าทำไหม เขาก็ไม่กล้า ระบบอเมริกันมันใช่ระบบ 2-way คือคุณทิ่มคนอื่นได้ เขาก็ทิ่มกลับคุณได้ เพราะระบบฟ้องร้องอเมริกันแรงมาก หมอทุกคนระวังตัวหมด ไม่กล้าทำซีซั้ว

บ้านเราตรงนี้มันอ่อนแอ แต่อเมริกาเขาคุมอยู่ สมมุติว่าหมอคนหนึ่งๆ ไม่มีวุฒิไม่มีอะไรเลย ทำอะไรเกินหน้าที่ตัวเอง มีปัญหาขึ้นมา จ่ายแบบล้มละลายเลยนะ สิ้นชีวิตเลยล่ะ คือกฎหมายเขาแรง แล้วบริษัทประกันก็คือคนซึ่งทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประเทศชาติเขาได้ผลประโยชน์ เขาก็ไม่อยากเสียผลประโยชน์ แต่เขาก็คุ้มครองผู้มาซื้อประโยชน์จากเขา ทุกอย่างมันคอลโทรลด้วยตัวมันเอง ผมว่าระบบอมเมริกามันดี

khunmeawตัวอย่างศัลยกรรมพลาดจากหมอที่ไม่มีประสบการณ์ที่เพียงพอ

• อย่างบ้านเราเหมือนกับว่าปาบกรรมความรับผิดชอบจะตกไปอยู่ที่ผู้บริโภอย่างเดียว หมอโดนอย่างมากก็แค่จับปรับแล้วก็ไปเปิดใหม่
กฏหมายมันแค่นั้นไง แต่ผมเชื่อว่าถ้าระบบประกันเข้ามา มันน่าจะดีขึ้น แต่ตัวประกันต้องดีนะ ตัวบริษัทประกันต้องดีนะ ถ้าบริษัทประกันไม่ดี ก็มีปัญหาอีกล่ะ

• ถ้าให้เทียบระบบอเมริกากับระบบของเรา แตกต่างกันอย่างไร
ระบบของอเมริกา สมมุติว่าคุณเป็นจักษุแพทย์ เขาก็จะถามว่าคุณจบที่ไหน จบสถาบันดีไหม ได้วุฒิการศึกษามาไหม เขาเช็กหมดเลย ทำมาทำไหร่ ก็คือไล่ดูปูมน่ะ ดูปูมอดีตของคุณครบทุกอย่างแล้ว เขาถึงจะมาทำนายอนาคตว่าเขาจะรับหรือไม่รับคุณ

แต่ของไทยเรานี่ มีใบประกาศณีย์บัตรอันเดียวก็ได้แล้ว ซึ่งตามจริง มันต้องดูปูม ปูมในที่นี้ก็คือล็อกบุ๊ก ล็อกบุ๊กก็คือสมุดตารางบันทึกการทำงานของตัวเองนั่นแหละ จริงๆ ถ้าคนไข้ขอดูล็อกบุ๊กของหมอ หมอต้องให้ดู และมันเป็นการบังคับไปด้วยกลายๆ ว่าหมอต้องทำเรคคอร์ด และทางการแพทย์มันบันทึกอยู่ในบัตรเท่านั้นเอง แต่ตัวหมอเองต้องมีเรคคอร์ดอีกต่างหาก เพื่อยื่นให้กับแพทยสภา ยื่นทุกปี คนไข้ก็สามารถดูได้ทุกวัน แพทยสภาดูทุกปี ต้องเป็นระบบนี้ ผมก็อยากจะฝากให้ไปคิดดูว่าควรไม่ควรที่จะเกิดอะไรแบบนี้ขึ้น อาจจะทำความยุ่งยากให้คุณหมอหน่อย แต่เชื่อผมเถอะว่ามันจะเป็นประโยชน์กับคนไข้อย่างมาก

• คือหมอก็ยังยืนยันว่าการบันทึกการฝึกหรือปฏิบัติการของนักบิน เอามาใช้กับการแพทย์ได้?
เพราะหลักของการผลิตนักบินของทั่วโลกได้มาตรฐาน ได้มาตรฐานจริงๆ เพราะมันเป็นเรื่องเป็นเรื่องตาย หมอก็เหมือนนักบินนั่นแหละ เอาคนไข้เป็นผู้โดยสาร เรื่องเป็นเรื่องตาย เรื่องพิการ มันไม่ตายก็พิการ ไม่พิการก็เสียโฉม ไม่เสียโฉมก็ไม่พอใจ ไม่พอใจก็มีอีกหลายเรื่อง ผมอยากฝากเรียนไปถึงแพทยสภาด้วยว่าการผลิตแพทย์สายนี้ควรจะยึดหลักการของการผลิตนักบิน เพราะเขามีทั้งทักษะมีทั้งวุฒิ มีทุกอย่าง เขาล็อกไว้หมดเลย ทุกอย่างใช้ระบบบันทึกหมดเลย ทุกอย่างเป็นตัวเลข เครื่องจะขึ้นจะลง ทุกขั้นตอนเช็กหมด กัปตันชื่ออะไร วุฒิอะไร ผู้ช่วยนักบินชื่ออะไร นามสกุลอะไร วุฒิอะไร เช็ก ช่างชื่ออะไรก็บันทึก แต่การแพทย์นี้หลวมอยู่ หลวมมากเลย

• เมื่อระบบของไทยเราเป็นอย่างนี้ เราจะเชื่อมือหรือเชื่อใจหมอได้แค่ไหน
คือทุกวันนี้ ความเชื่อมันเกิดจากกระแส ถ้ากระแสบอกว่าดี ก็เชื่อกันไปแล้ว แต่สำหรับผู้มีสติ คิดทบทวน รู้ก่อนไปทำ อันนี้เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่ออยู่ที่สิทธิ์ของเขาแล้ว แต่ในเด็กนี่มักจะไม่สนใจ เชื่อไปเลย ส่วนผู้ใหญ่จะช้าหน่อย อ่านแล้วไม่เชื่อ เขาก็ต้องไปเลือก

• ถ้าจะให้แนะนำแนวทางการไปทำศัลยกรรม คุณหมอจะแนะนำแนวทางการเลือกอย่างไรครับ
แนวทางการเลือกที่พอแนะนำได้ คืออันดับที่หนึ่ง ในเว็ปไซต์ทั้งหลายมันเป็นแหล่งข้อมูลอยู่แล้ว ก็หาศึกษาหาอ่านดู อันดับที่สอง ถ้าไม่รู้เปิดไม่เป็นหาคนอื่นไม่ได้ ก็ต้องถามแพทยสภาว่าถ้าจะไปหาแพทย์คนนี้ เขาชำนาญทางด้านอะไร เขาจบระดับไหนมา ต้องใช้คำว่าระดับนะ เพราะมันมีหลายระดับ ก่อนจะไปทำศัลยกรรมอะไรก็ตาม ต้องดูต้องเจาะให้ลึกว่าหมอคนนั้นๆ เขาชำนาญเรื่องอะไร เราดูให้เจอ แล้วไปทำแต่อันนั้น เช่น เขาชำนาญเรื่องขากรรไกร อย่างกรณีที่เป็นข่าวดังเพราะเกิดการเสียชีวิต ถามว่าเขาไปหาหมอถูกตัวหรือเปล่า มันไม่ถูกตัวนะ หมอที่ถูกตัวมีอยู่แค่…วันนั้นผมให้ข่าวไปแค่ 20 กว่าคน มันก็มีประมาณนี้ล่ะเมืองไทย ที่พูดได้เต็มปากว่าดีทั้งวุฒิ ชั่วโมงบิน และคุณภาพ มันมีอยู่ 20 กว่าคนเองในเมืองไทยนะ แต่พวกเขาไม่เปิดตัว คนไข้เขาล้นอยู่แล้ว ทำไม่ทันอยู่แล้ว และเขาก็ไม่ค่อยรับเคสด้วยซ้ำ แต่ไอ้พวกที่มาทำๆ กันนี่ ก็เพราะตลาดมันบูม หมอคนไหนก็จะมาทำ

• ทั้งๆ ที่มีคุณภาพหรือเปล่าก็ไม่รู้?
คือหมอคนหนึ่งจะเก่งอยู่แค่อย่างสองอย่าง ไม่เกินสาม ได้แค่นั้น เช่น ยกตัวอย่างหมอคนหนึ่ง ทำทั้งตัวเลย แต่ว่าเขาเก่งเรื่องทำนมอย่างเดียว เออ ร้านนั้นไปดูดีๆ จะมีแต่คนทำนม แต่พวกไปทำตาทำจมูกก็มีหลงๆ เข้าไปนะ ไปดูอีกเจ้าหนึ่ง ทำไมมีแต่คนมีผ้าพันหัว อ๋อ ร้านนี้เขารับปลูกผมอย่างเดียวเลย นี่เป็นวิธีสังเกต ดูให้ดี และหมอส่วนใหญ่เขาก็จะไม่ได้บอกอะไร แล้วหน้าร้านพวกนี้ก็จะไม่เขียนอะไรด้วย คนไข้จะรู้เอง

• ในฐานะที่ก็เป็นหมอศัลย์ท่านหนึ่ง คุณหมอมีความคิดเห็นอย่างไรว่าคนเราควรศัลย์หรือไม่ควรศัลย์
ในความเห็นของผม ผมพยายามจะเปลี่ยนคำว่าศัลยกรรมความสวยความงาม ไปสู่การศัลยกรรมเพื่อบุคลิกภาพ ผมยังเห็นว่า การทำเพื่อบุคลิกภาพยังฟังดูดีกว่า และมีเหตุผลกว่า เช่น สมมุติว่า คนคนหนึ่ง เขาตาตก เขาดั้งหัก นี่คือจุดด้อยบนใบหน้า และเขาคิดว่าเป็นปมด้อย เราก็ช่วยปรับให้ลบปมด้อยนั้นไปซะ อันนี้เป็นเรื่องของการศัลยกรรมเพื่อปรับบุคลิกภาพ

แต่นอกจากกลุ่มนี้แล้ว ก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มที่ใช้ความเชื่อ เรื่องของโหงวเฮ้ง เพราะบางคนก็เชื่อว่าโหงวเฮ้งมีส่วนในการดำเนินชีวิต อันนี้ก็ปรับได้ แล้วอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน เพราะต้องใช้หน้าตาในการประกอบอาชีพ เช่น เป็นแอร์โฮสเตส เป็นนักร้องนักแสดง อย่างนี้เขาก็ทำเพราะเห็นว่ามันจำเป็น แต่ก็อย่างที่ผมพูดไว้ในตอนต้นว่า ปัจจุบันนี้ มีเยาวชนวัยรุ่นไปทำตามกระแสเยอะ ทำไม่รู้จักหยุดจักหย่อน แบบนี้ผมว่าอันตราย เพราะระยะยาว เนื้อเยื้อเขาจะเสียหาย เด็กพวกนี้ผ่านไปอีก 20 ปี หน้าตาจะเปลี่ยนแปลงไป คอยดูสิ ทำมากๆ เปลี่ยนไปจริงๆ เปลี่ยนในที่นี้ไม่ใช่เพราะว่าศัลยกรรมทำให้ดีนะ พอทำไปแล้ว เวลามันแก่ลง มันไม่แก่ทุกสัดส่วน มันจะแก่เฉพาะส่วนที่ไม่ได้ทำ ส่วนที่ทำมันไม่แก่ หน้ามันจะเพี้ยนล่ะ คอยดูแล้วกัน

• ที่เราเห็นหน้าเพี้ยนๆ เพราะการทำศัลยกรรม ก็คือเพราะอย่างนี้?
เพราะเขาทำเยอะเกินไป ทำนแล้วทำอีก แล้วไปฉีดโน่นฉีดนี่เข้าใบหน้าตัวเอง เช่น ไปฉีดฟินเลอร์เข้าเยอะๆ ผ่านไป 20 ปี หน้ามันจะมีสารตกค้าง บางคนไปฉีดซิลิโคลน หน้าจะเปลี่ยนไปเลยนะ เป็นตะปุ่มตะป่ำขึ้นมาเลย หรืออย่างการไปทำจมูก ทำไปนานๆ 20 ปี ไอ้แท่งจมูกนี้มันอยู่ที่เดิมนะ แต่หนังมันเหี่ยวลง จมูกมันจะแหลมขึ้น เห็นเป็นแท่งเลย พอตอนอายุเยอะๆ ที่หน้ามันเพี้ยน เพราะทำมาตั้งแต่สาวๆ เพราะฉะนั้น อย่าทำมาก ทำนิดๆ หน่อยๆ พอ พอเพียง ตามปรัชญาทุกอย่างพอเพียง ให้มันเพียงพอ อย่างไปเวอร์ไป
michaela

 ตัวอย่างหน้าเพี้ยน ทำศัลยกรรมเยอะไป

• แต่บางทีมันก็ไม่พอ เพราะหลงเชื่อคำยุ อย่างที่หมอว่า
นั่นแหละกระแส เขาเรียกกระแส เด็กก็จะตามกระแส น่าเป็นห่วงนะ น่าเป็นห่วง ตอนนี้กระแสมันแรงสุดขีด แรงแบบไม่น่าเชื่อ ผมก็ไม่คิดว่ามันจะมาถึงแรงขนาดนี้ แล้วเด็กๆ เขามักจะไม่รู้ว่าจุดแห่งความพอดีมันอยู่ตรงไหน มันไม่จบ ผมไม่อยากจะใช้คำว่า “เสพติดศัลยกรรม” แต่ขอใช้คำใหม่ว่า เป็นความไม่รู้จักพอ ความพอดีนี่สำคัญที่สุดเลยนะ แต่เด็กส่วนใหญ่มันจะทำเกินๆ กันทั้งนั้น เช่น บางคนทำจมูก สวยขึ้นมาแล้ว พอมีคนมาติหน่อย ไปเปลี่ยนหมอ ทำครั้งที่สอง มีคนชมดีๆๆ ผ่านไปปีหนึ่ง โอ๊ยทำไมไม่ไปตัดปีก ก็ไปตัดอีกล่ะ พอตัดปีกเสร็จ อุ๊ย ทำจมูกโด่งแล้ว ทำไมไม่มีหยดน้ำ ไปเติมหยดน้ำอีก ทำให้ยาวขึ้นโด่งขึ้น ทีนี้เอาแล้ว 4-5-6 บางคนทำตั้ง17-18 ครั้ง ซึ่งมันไม่มีข้อบ่งชี้อะไร แล้วเด็กไม่รู้จักพอ มันอันตราย

• คือคุณหมอก็ยังยืนยันเต็มปากเต็มคำว่าศัลยกรรมเยอะๆ อันตราย
อันตรายมีอยู่ทุกอย่างครับ เดินข้ามถนนก็อันตรายแล้ว ทุกอย่างอันตรายหมด แต่ว่าเราต้องมีสติที่จะจัดระยะของความปลอดภัยระหว่างตัวเรากับสิ่งแวดล้อม หมอก็เป็นสิ่งแวดล้อมของคนไข้ ถ้าหมอดีฝีมือดี ก็ทำให้พอดีๆ แต่บางทีคนไข้ก็จัดระยะตัวเองไม่ถูก อยากเอาอีก อยากทำอีก พอหมอคนนี้ไม่ทำให้หรือทำให้ไม่พอ ก็เปลี่ยนไปหมอคนอื่น ไม่รู้จักจบจักสิ้น

• คุณหมอทำศัลยกรรมมากี่ปีแล้วครับ
เกือบ 40 ปีแล้ว ทำตั้งแต่หนุ่มจนแก่ แล้วผมก็ติดตามปรากฏการณ์ตลอดเวลา ปรากฏการณ์แบบเมืองไทยอย่างตอนนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ทั่วโลกเขางงเหมือนกันนะ ศัลยกรรมกันแบบฟุ่มเฟื่อยเลย

• กับประสบการณ์กว่าสี่สิบปี คุณหมอบอกว่ามีเรื่องหนึ่งซึ่งกำลังเป็นปัญหาอย่างมาก คือเรื่อง “แก้” คือยังไงครับ
คือเรื่องแก้ สำหรับผม ผมจะลิมิตตัวเอง ผมจบมาทางหู คอ จมูก ใบหน้า คาง หัว แถวนี้ ผมก็ลิมิตตัวเองแค่นี้ เพราะฉะนั้น อะไรที่เสียบริเวณนี้ผมรับแก้ ตรงอื่นผมก็ไม่ทำ และคำว่ารับแก้ไม่ได้หมายความว่ามาถึงแก้เลยนะ ผมต้องดูก่อนว่าแก้ได้ไม่ได้ก่อน และสอง ต้องรักษาก่อนแล้วค่อยแก้ และสาม ถ้าแก้ไม่ได้ ก็บอกเขาว่าไม่ต้องแก้แล้ว ผมก็ไม่อยากยกตัวเองว่าเป็นผู้ชำนาญนะ แต่เรามีชั่วโมงบินเกี่ยวกับใบหน้าค่อนข้างสูงมาก ถ้าบอกว่าไม่ แล้วเขาไม่เชื่อ จะยังไงต่อ เขาก็คงไปหาหมอคนอื่น แล้วยิ่งแก้ไป ก็ยิ่งพังไปอีก แบบนี้มีเยอะ

• ส่วนใหญ่เป็นเพราะอะไร ถึงต้องมาแก้กันให้วุ่นวายแบบนั้น
ก็ไปเจอหมอที่อาจจะมีวุฒิ แต่ชั่วโมงบินต่ำ เยอะนะอย่างนี้ คือจบศัลยกรรมมาเหมือนกัน แต่ว่าชั่วโมงบินเขาต่ำ หรือบางคนไม่ได้จบวุฒิอะไรเลย ก็มาทำ อย่างนั้นก็เสียหายได้ แล้วเดี๋ยวนี้อัตราการเสียหาย มันสูงขึ้นเรื่อยๆ สูงชนิดที่ว่านับเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่เห็นแล้วเราจะตกใจเลยว่าทำไมมันเยอะขนาดนี้ เราไม่สามารถบันทึกเป็นตัวเลขได้นะ รู้แต่ว่ามันเยอะ บางทีแก้ไปแก้มา ต้องบอกว่า แก้ไม่ได้ มันหนัก บางคนแก้ไม่ได้ บางหมอก็บอกชัดเจนเลยว่า “รับทำ แต่ไม่รับแก้”

• เห็นคุณหมอบอกว่าหลายคนที่ไปทำมาจากเกาหลีซึ่งถือเป็นบ้านหลังใหญ่ของการศัลยกรรม ก็ยังกลับมาให้หมอช่วยแก้ไข
มีๆ ปัญหาของเกาหลีก็เหมือนบ้านเรา หมอที่เกาหลีเขาก็ไม่พอเหมือนกัน พอไม่พอ ก็จะมีหมอสารพัดเข้ามาทำ เหมือนบ้านเรานี่แหละ และผมเชื่อว่าจุดที่เกาหลีเขาบูมเรื่องการศัลยกรรม ผมว่าคนไทยก็อยู่ในจุดนั้นแล้วล่ะ คือของเกาหลีเขาใช้ระบบเอาดารานักร้องหรือคนในวงการบันเทิงมาเป็นกระแส มันก็มาจากตรงนี้ แล้วมันก็ระบาดไปทั่วโลก ทุกคนก็เสพตาม แต่ว่ามันคนละเรื่องกับคุณภาพของแพทย์นะ คนละเรื่องเลย คือประเทศที่มีการศัลยกรรมเยอะ มีคนทำเยอะ ไม่ได้หมายความว่าแพทย์มีคุณภาพนะ เพราะฉะนั้น จากเกาหลีที่เสียมา ก็มีเยอะ แล้วพวกนี้เสียแล้วจะไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะ จะมุดมาหาเรา มาแบบเงียบๆ ไม่เป็นข่าวเป็นเรื่องเป็นราวอะไรเลย

pakorea1

ตัวอย่างศัลยกรรมเกาหลีบางส่วน ที่ทำออกมาสวยมีอิทธิพลทำให้คนคิดว่าอยากสวยต้องไปศัลยกรรมที่เกาหลี

• บางที คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าเกาหลีเขาทำดี ถึงขนาดเสียค่าเครื่องบิน บินไปทำ
คือผมก็ไม่อยากใช้คำว่าดีหรือไม่ดีนะ แต่ทุกอย่างในโลกนี้มันคล้ายๆ กัน ในทางการแพทย์นะ ไม่มีใครเก่งกว่าใคร แต่ว่าในตัวแพทย์คนนั้นๆ น่ะ คุณต้องหาให้เจอว่าเขาเก่งอะไร มันไม่มีใครเก่งกว่าใคร แต่หาให้เจอว่าเก่งอะไร

• สุดท้ายครับหมอ “ทำหน้าหล่อชาตินี้ ทำดีหล่อชาติหน้า” คุณหมอมีความคิดเห็นไหม
(หัวเราะ) แหม คำนี้มันเป็นคำพูดเล่นน่ะนะ ผมก็ได้ยินมาเหมือนกัน “ทำหน้าสวยชาตินี้ ทำดีสวยชาติหน้า” เออ มันก็ถูกเนอะ (หัวเราะ) คือเกิดมาชาตินี้แล้วจะทำอะไร ก็ทำไปเลย แต่ว่าเอาพอดีๆ แล้วกัน แต่ถ้าชาติหน้า อยากเกิดมาสวย อยากเกิดมาหล่อ ก็ต้องทำบุญทำทานรักษาศีลให้จิตบริสุทธิ์ตั้งแต่ชาตินี้ เกิดชาติหน้าจะได้เป็นเทพเทวดา หน้าตาออกมาดี มันก็เป็นเรื่องของกฏแห่งกรรมตามหลักของศาสนานั่นล่ะ

• แล้วถ้าขี้เกียจรอชาติหน้า คือจะหล่อจะสวยให้ได้ในชาตินี้จริงๆ คุณหมอจะแนะว่าอย่างไรดี
ชาตินี้ถ้าเราอยากจะทำ เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่มันเกิดมามันไม่ดี ก็ควรไปหาหมอที่ดีๆ แล้วตัวเองก็ต้องคิดดีๆ ด้วยนะ อย่าไปคิดฟุ้งซ่าน จนกระทั่งเวอร์ไปเลย เดี๋ยวพังอีกล่ะ และเดี๋ยวนี้ ผมว่าวิทยาศาสตร์ทางเครื่องสำอางมันพัฒนาขึ้นเยอะนะ เครื่องสำอางที่ผลิตออกมาสามารถเมคอัพหน้าคนเปลี่ยนได้เลย ไม่ได้ผ่าตัด ไม่ได้ทำศัลยกรรม แค่เขียนคิ้ว ทาปากทาแก้ม ผิวไม่ดี สามารถเมคจนเกลี้ยง กลายเป็นอีกคนยังได้ อันนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

 

เรื่อง : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ที่มาจาก ผู้จัดการ

เรื่องน่าสนใจ