ที่มา: TNN24

นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า เด็กไทยมีสายตาผิดปกติประมาณ 6.6% ในจำนวนนี้ต้องใส่แว่นสายตา 4.1% สาเหตุมีทั้งเป็นเพราะพันธุกรรมและพฤติกรรม โดยในส่วนของพฤติกรรม เด็กปัจจุบันมีการอ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้สายตามาก ส่งผลให้เด็กมีปัญหาสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น ลักษณะไม่แตกต่างกันทั้งเด็กในเขตเมืองและเขตนอกเมือง ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเมื่อ 10 ปีก่อน ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ระหว่างคนในเขตเมืองและนอกเขตเมือง ซึ่งเดิมเด็กในเขตกรุงเทพฯ จะมีปัญหาสายตา 10% ขณะที่เด็กนอกเขตเมืองจะมีปัญหาสายตาเพียง 3-4% แต่ปัจจุบันเด็กเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้เหมือนกันทั่วประเทศ เด็กจึงมีการใช้งานสายตามากขึ้น ส่งผลต่อความผิดปกติทางสายตาไม่แตกต่างกันระหว่างในและนอกเมือง 

ทั้งนี้ เด็กที่สายตาสั้นหากไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องในช่วงวัยก่อน 6 ขวบ อาจจะส่งผลให้เด็กมีปัญหาตาขี้เกียจตามมา โดยการมองเห็นของดวงตาข้างใดข้างหนึ่งด้อยกว่าอีกข้างหนึ่ง โดยดวงตาข้างที่เป็นสายตาขี้เกียจจะมองเห็นภาพต่างๆ มัวกว่าดวงตาอีกข้างที่เป็นปกติ นอกจากนี้ เด็กที่สายตาสั้นอาจจะตาเหล่ตามมา เนื่องจากการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน จึงต้องเพ่งสายตา ทำให้กล้ามเนื้อตาเข อาจจะเป็นลักษณะตาเขเข้าในหรือเขออก” นพ.ปานเนตรกล่าว

นพ.ปานเนตร กล่าวอีกว่า การพัฒนาของสายตาจะเริ่มตั้งแต่แรกคลอด จนสมบูรณ์เต็มที่เมื่ออายุประมาณ 10 ปี แล้วสายตาจะคงที่จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ ความผิดปกติของตาตั้งแต่เด็กจึงมีผลอย่างมากต่อการมองเห็นไปตลอดชีวิต จึงขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตอาการผิดปกติของสายตาและการมองเห็น เช่น ตาเข ตาเหล่ ตาลอย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะตาขี้เกียจและสายตามัวตามมา เอียงหน้าหรือเอียงคอมอง ดูหนังสือหรือดูโทรทัศน์ในระยะใกล้ บ่นปวดศีรษะในตอนเย็นหรือหลังเลิกเรียน บ่นว่ามองกระดานไม่ชัด ขอให้พาไปพบจักษุแพทย์ หรือปรึกษาครูประจำชั้น เพื่อคัดกรอง ส่งต่อเข้าระบบการดูแลต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 2560 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดโครงการ “เด็กไทยสายตาดี” ตั้งเป้าหมายตรวจคัดกรองสายตาเด็กนักเรียน ป.1 ในโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ รวม 1,040,000 คน พร้อมมอบแว่นสายตาอันแรกแก่เด็กที่มีสายตาผิดปกติ ฟรี 43,006 คน แบ่งเป็นปีการศึกษา 2559 จำนวน 4 แสนคน มอบแว่นสายตา 18,006 คน และปีการศึกษา 2560 จำนวน 6.4 แสนคน มอบแว่นตา 2.5 หมื่นคน โดยจะอบรมครู เจ้าหน้าที่วัดแว่นตาเพิ่มในโรงพยาบาลอีก 25 แห่ง และสนับสนุนแว่นตากระจายไปยังเขตสุขภาพ พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดระบบการส่งต่อเด็กมารับการตรวจวัดสายตาที่โรงพยาบาล เพื่อให้เด็กได้รับความสะดวกในการเดินทางและได้รับแว่นตาเร็วขึ้น

เรื่องน่าสนใจ