ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า  วันนี้  ( 23 พฤษภาคม 2560 )  หลังจาก งานมหกรรมสุขภาพอาเซียน หรือ ASEAN Health Wisdom Conference 2017 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยงานดังกล่าว โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นเจ้าภาพหลักจัดขึ้น โดยรวบรวมหมอพื้นบ้านทั่วอาเซียนมาถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น จากหลายประเทศในอาเซียน ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด

อาทิ เมียนมา กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย รวมถึง ศรีลังกา และอินเดีย ที่นำทีเด็ดการรักษาหาชมได้ยาก อีกทั้งยังมีการนำเสนอการแพทย์ดั้งเดิมที่เหนือธรรมชาติแต่รักษาโรคได้

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอผลงานในครั้งนี้ ทำให้หลายคนออกจะไม่เชื่ออยู่บ้างว่า การแพทย์ระบบนี้ช่วยได้รักษาได้จริงหรือ กลายเป็นดราม่าในหมู่ชาวประชาชนทั่วไป โลกออนไลน์ และ ตามเพจดังต่างๆ 

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หรือ อาจารย์หมอต้อม กล่าวว่า  การแพทย์พื้นบ้านมีการรักษาสืบเนื่องยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ และตนเอง แม้เป็นเภสัชกรแผนปัจจุบัน ก็ได้มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลองค์ความรู้กับหมอยาพื้นบ้านมากว่า 30 ปี ได้สัมผัสประสบการณ์การรักษาทั้ง หมอยาพื้นบ้านไทยและต่างประเทศ ในหลากหลายรูปแบบ

โดยพบว่าทั่วโลกนั้นมีไม่กี่ประเทศที่จะมีศาสตร์การดูแลสุขภาพเป็นของตนเอง โดยการใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นนั้น ประกอบกับความเชื่อ พิธีกรรมซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของทั้งผู้ป่วยและญาติ  โดย สามารถจำแนกได้ 3 ระบบ

ได้แก่ การแพทย์ประสบการณ์ เป็นการบำบัดรักษาโรคและอาการที่มีการสั่งสมประสบการณ์ของหมอสืบทอดต่อกันมา การแพทย์เหนือธรรมชาติ การใช้พิธีกรรม ความเชื่อเพื่อการบำบัดรักษาโดยมีหมอพื้นบ้านเป็นที่ยึดเหนี่ยวของคนในชุมชน การแพทย์เชิงระบบ โดยมีการใช้ทฤษฎีธาตุการตรวจ การรักษาอย่างมีแบบแผน

“ อาจจะดูเกินจริง หรือไม่ทันสมัยอยู่บ้างสำหรับการแพทย์เหนือธรรมชาติ ที่หลายคนมองว่าเป็นความเชื่อที่ทำให้งมงาย ไม่สามารถรักษาได้จริง แต่ก็ไม่อาจเถียงได้ว่าการแพทย์เหนือธรรมชาติมีอยู่คู่สังคมมายาวนาน

ดังจะเห็นได้จากการมีพิธีกรรมรักษาในแต่ละภูมิภาค วัฒนธรรมการรักษาที่หลากหลาย หากจะเทียบเคียงเห็นจะได้เช่นเดียวกันกับการทำวิจัยสมัยใหม่ ที่มีการใช้ยาหลอก เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าได้รับยานั้นจริงๆ และแปลกที่ว่าผู้ป่วยกลับรู้สึกดีขึ้นได้ แม้จะได้รับยาหลอก นั่นก็เพราะ จิตใจที่ทำให้อาการเจ็บป่วยนั้นทุเลาได้ การใช้พิธีกรรม คาถา มนต์รักษาก็เช่นกัน ”  ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าว

รองผู้อำนวยการรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ กล่าวด้วยว่า ในการรักษาของการแพทย์ดั้งเดิมนั้น เห็นได้ว่า ได้รับการยกย่องและนับถือสืบต่อกันมาช้านานจากรุ่นสู่รุ่น เนื่องจากเรายังคงพบการรักษาด้วยศาสตร์พื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่นทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ดังเช่นในกลุ่มสมาชิกอาเซียน ที่ยังคงมีการใช้ศาสตร์การแพทย์ดั้งเดิมอยู่

อาทิ มโนราห์เหยียบเสน ยาโปะกระหม่อม พิธีรับขวัญ การบายศรีสู่ขวัญ การบริกรรมคาถาบูชาเทพต่างๆที่นับถือร่วมกับการรักษา การใช้ยาสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าศาสตร์การรักษานี้ยังคงได้รับความเชื่อถือมานาน และการแพทย์ดั้งเดิมนั้นยังคงช่วยเยียวยา รักษาอาการเจ็บป่วยทั้งทางกายและใจได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้อาจต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยสืบสานองค์ความรู้และใช้ความรู้สมัยใหม่สนับสนุนโดยการทำวิจัยต่อยอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไม่ให้สูญหายไป

เรื่องน่าสนใจ