ที่มา: dodeden

พรุ่งนี้แล้ว ก็จะถึงวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2560 ซึ่งในปีนี้ ลูกๆ  หลาย ๆ ก็ได้แสดงออกการรักแม่ในหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย และ สื่ออื่นๆ 

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า  วันนี้ ( 11 สิงหาคม 2560  ) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า  ในวันหยุดยาว เนื่องในวันแม่แห่งชาติปีนี้  ลูกหลานจะเดินทางกลับภูมิลำเนาไปกราบแม่ 

โดยเฉพาะในพื้นที่ 44 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบ 580,352 ครัวเรือน ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้วยังเหลือ 8 จังหวัดส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   ลูกหลานที่กลับไปกราบแม่และอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัวในโอกาสสำคัญนี้ จะเป็นยารักษาใจ คลี่คลายทุกข์ คลายความกังวล ให้แก่ผู้ประสบภัยได้อย่างดีที่สุด   เนื่องจากเมื่อคนเราประสบภัยโดยทั่วไป  เราก็มักจะต้องการความมั่นคงทางร่างกาย และจิตใจเป็นลำดับแรกๆ 

 

“ขอให้ประชาชนและลูกหลานที่กลับบ้านที่ภูมิลำเนาที่ประสบภัยน้ำท่วม ช่วยกันให้กำลังใจคนในครอบครัวและเครือญาติ  ขอให้ตั้งสติรับฟังปัญหาความทุกข์ใจของผู้ประสบภัยและเป็นเสาหลักแบบอย่างที่มีจิตใจเข้มแข็ง   ไม่ควรแสดงความเสียใจเพื่อให้ผู้ประสบภัยเกิดความเสียใจซ้ำอีก ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประสบภัยเกิดความรู้สึกมั่นคงอบอุ่น ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองอยู่อย่างเดียวดายไร้ค่า  และจะเกิดพลังใจที่เข้มแข็งมีความหวัง พร้อมจะรับมือเหตุการณ์ในอนาคตหากมีเกิดซ้ำ” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ขณะเดียวกันลูกหลานผู้ประสบภัยก็สามารถดูแลจิตใจซึ่งกันและกันด้วยหลัก 3 ส. ประการแรกคือคอยสอดส่องสังเกตพฤติกรรมของคนใกล้ชิดที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่นมีอาการเหม่อลอย   ไม่ร่าเริงสดใส   เก็บตัวไม่สุงสิงกับผู้อื่นเหมือนเคย   ประการต่อมาคือการใส่ใจรับฟัง เพื่อให้เขาระบายความในใจออกมาให้ได้มากที่สุด  และอาจสื่อสารด้วยภาษากายเช่น การโอบกอด การสัมผัส เพื่อปลอบขวัญ ปลอบโยน และประการสุดท้ายหากเห็นว่าเมื่อพูดคุย ปลอบใจแล้ว พฤติกรรมยังไม่ดีขึ้น ให้ส่งต่อไปยังผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญกว่าเรา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมแก้ไขฟื้นฟูจิตใจและรับการช่วยเหลือต่อไป

ทางด้าน นายแพทย์กิตต์กวี  โพธิ์โน  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่านอกจากนี้ลูกหลานอาจถือโอกาสที่กลับมากราบแม่ครั้งนี้ ร่วมกันทำความสะอาด ซ่อมแซมบ้านเรือน ปรับปรุงคอกสัตว์เลี้ยงต่างๆและทานอาหารร่วมกัน จะทำให้ผู้ประสบภัยรู้สึกภาคภูมิใจและสบายใจได้เป็นอย่างมาก

รวมทั้งการไปวัดทำบุญ ก็อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ได้พบปะกันพูดคุยกัน ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน เนื่องจากวัดเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านอยู่แล้ว     

สำหรับผลการดูแลฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยในจังหวัดนครพนมและสกลนครภายหลังน้ำลด ทีมจิตแพทย์เอ็มแคทได้ทำการตรวจคัดกรองความเครียดประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยไปแล้วกว่า 4,000 คน พบผู้ที่มีความเครียดในระดับรุนแรง  ต้องให้การดูแลรักษาใกล้ชิดเป็นกรณีพิเศษจำนวน 110 คน โดยอยู่ที่สกลนคร 100 คน และที่นครพนม 10 คน

เพื่อป้องกันไม่เกิดอาการซึมเศร้าซึ่งจะนำไปสู่การทำร้ายตัวเองได้ง่ายซึ่งเป็นไปตามแผนฟื้นฟูของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะติดตามอาการครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 นี้  

เรื่องน่าสนใจ