ลาตินอเมริกันเร่งควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา หลายปท.พ่นยาฆ่ายุงพบยังมีการระบาดต่อเนื่อง-รวดเร็ว

03b391

วันนี้(17 ก.พ.59) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าภูมิภาคลาตินอเมริกายังคงมีความพยายามฉีดพ่นยากำจัดยุงลาย ขณะที่ภูมิภาคแห่งนี้ต่อสู้กับการระบาดของเชื้อไวรัสซิกาที่กำลังรุนแรงมากขึ้นและยังมีผลการศึกษาออกมาว่ามีความเป็นไปได้ที่ไวรัสซิกา เกี่ยวข้องกับโรคศีรษะเล็กผิดปกติในเด็กแรกคลอด โดยในเปรูผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ทำให้เกิดกระแสลมแรงและไฟไหม้ ขณะเดียวกันก็มีฝนตกหนักและอุณหภูมิสูงในภาคเหนือของประเทศ ซึ่งสภาพภูมอากาศอย่างนี้ ส่งเสริมการขยายพันธุ์ของยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสซิกาพร้อมด้วยไข้เลือดออกและไข้ชิคุนกุนยา

ขณะที่รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขของเปรู ยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสซิการายที่2ของประเทศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาและเชื่อว่าชาวเปรูวัย 35 ปีผู้นี้ติดเชื้อไวรัสซิกาขณะเดินทางไปท่องเที่ยวในเวเนซูเอลา ขณะที่นายอานีบัล เวลาสเควซ รัฐมนตรีสาธารณสุขเปรูและมาร์การิตา กูวารา รัฐมนตรีสาธารณสุขเอกวาดอร์ จัดการประชุมกันเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆป้องกันการระบาดของไวรัสร้ายตัวนี้ ซึ่งมาตรการป้องกันรวมทั้งการพ่นยาฆ่ายุงตามพื้นที่บริเวณพรมแดนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทั้งนี้เปรูมีพรมแดนติดต่อกับโคลอมเบียและบราซิลด้วย ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสซิการุนแรงที่สุด

ส่วนสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของโคลอมเบีย แถลงในเอกสารเกี่ยวกับโรคระบาดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วทั้งสิ้น 31,555 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้หญิงตั้งครรภ์ถึง 5,013 คน โดยในพื้นที่แถบทะเลแคริบเบียนของประเทศ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม คาร์ตาเกนาและซานตา มาร์ตา พบผู้ติดเชื้อสูงถึง 12,488 คน

สำหรับในบราซิลนั้นก็กำลังตรวจสอบความเป็นไปได้ที่จะมีความเชื่อมโยงกันระหว่างเชื้อไวรัสซิกา และกรณีเด็กแรกเกิดที่มีปัญหาศีรษะเล็กผิดปกติกว่า 4,300 คน

เรื่องน่าสนใจ