ออกกฏหมาย ห้ามศัลยแพทย์รับปากคนไข้หลัง ทำศัลยกรรม แล้วจะสวยขึ้น


แม้ว่าคำรับประกันของศัลยแพทย์ที่บอกว่า หลังการทำศัลยกรรมแล้วจะ “สวยขึ้น” หรือ “ดูดีขึ้น” จะเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยทุกคนอยากได้ยิน แต่ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งอังกฤษ ( Royal College of Surgeons) ก็ได้ออกมาเตือนว่า ศัลยแพทย์ผู้มีจรรยาบรรณต้องไม่กล่าวเช่นนี้ให้ผู้ป่วยฟัง เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด หรือการตั้งความคาดหวังสูงเกินจริงต่อผลของการศัลยกรรมแบบต่าง ๆ แต่ให้ใช้คำพูดที่ดูกำกวม อย่างคำว่า “เล็กลง” หรือ “ใหญ่ขึ้น” แทน และได้เสนอข้อเรียกร้องนี้ต่อรัฐบาลให้พิจารณาเพื่อออกเป็นกฎหมายให้ศัลยแพทย์ทุกคนต้องปฏิบัติตามอีกด้วย

นอกเหนือจากการเรียกร้องไม่ให้แพทย์พูดให้ความหวังเกินจริงกับผู้ป่วยแล้ว ยังเรียกร้องให้ผู้ที่จะลงมือกระทำการผ่าตัดเพื่อความงามใด ๆ ต้องเป็นศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น รวมทั้งกระบวนการเพื่อความงามที่ไม่ต้องใช้การผ่าตัด แต่ทำด้วยวิธีการฉีด เช่น ฉีดโบท็อกซ์ หรือฟิลเลอร์ต่าง ๆ ก็ต้องเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ หรือพยาบาลที่ได้รับการอบรมและฝึกฝนเพื่อให้บริการด้านความงามในแขนงนี้โดย เฉพาะเท่านั้น หลังจากพบว่าในปัจจุบัน ผู้ที่กระทำการฉีดหรือเสริมสารใด ๆ ให้กับผู้ป่วย กลับกลายเป็นใครก็ได้ที่ไม่จำเป็นต้องผ่านการอบรม หรือมีใบอนุญาตใด ๆ เลย

จากการสำรวจของหน่วยงานบริการสุขภาพแห่งประเทศอังกฤษ หรือ NHS พบว่า สถิติ การทำศัลยกรรมของชาวอังกฤษเพิ่มสูงขึ้น ๆ ทุกปี แต่ข้อมูลที่คลินิกความงามต่าง ๆ ได้ให้ออกมากลับเป็นไปในเชิงการโฆษณาเพื่อเน้นผลทางด้านการตลาด มีการพูดถึงข้อเสนอข้อแลกเปลี่ยนหรือโปรโมชั่น มากกว่าจะเป็นไปเพื่อการให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจในการเข้าทำ ศัลยกรรม ทาง NHS จึงเห็นพ้องกับราชวิทยาลัยฯ ในการเรียกร้องให้ออกกฎบังคับควบคุมดังที่กล่าวมาข้างต้น อันตรงกับสิ่งที่นายราจิฟ โกรฟเวอร์ ประธานสมาคมศัลยกรรมพลาสติกเพื่อความงามแห่งอังกฤษ (The British Association of Aesthetic Plastic Surgeons) ได้กล่าวไว้ว่า ยิ่งสถิติการศัลยกรรมสูงขึ้นมากเท่าไหร่ การคำนึงถึงผลประโยชน์และรายได้ของผู้ให้บริการก็ยิ่งเพิ่มขึ้น สวนทางกับความเอาใจใส่ในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ลดน้อยลง โดยกรณีที่เห็นเป็นตัวอย่างได้ชัดเจนในเรื่องการให้บริการที่คำนึงถึงแต่ผล ประโยชน์มากกว่าความเหมาะสม และสวัสดิภาพของผู้ป่วย ได้แก่ กรณีที่เด็กสาวอังกฤษอายุต่ำกว่า 14 ปี นับร้อยรายโร่เข้าทำศัลยกรรม รีเชฟน้องสาว ทั้งที่ความจริงแล้ว การศัลยกรรมปรับแต่งจุดสงวนนั้นยังไม่จำเป็นสำหรับเด็กหญิงเลยด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องให้ศัลยแพทย์ทุกคนต้องทดสอบ และสืบประวัติผู้ที่ต้องการเข้ารับการศัลยกรรม ว่ามีอาการบกพร่องทางจิตหรือไม่ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรค BBD คือรู้สึกว่าร่างกายของตนเองมีความบกพร่องที่ต้องได้รับการแก้ไขตลอดเวลา (Body dysmorphic disorder), อะนอเร็กเซีย, บูลิเมีย ฯลฯ จัดว่าเป็นผู้ป่วยที่ต้องพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการทางจิตใจ มากกว่าที่จะพบศัลยแพทย์เพื่อแก้ไขความไม่พึงพอใจในร่างกายของตนด้วย

เรียกได้ว่า ยิ่งความต้องการในการทำศัลยกรรมมีมากขึ้น สวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยกลับยิ่งลดน้อยลง จึงเป็นการดีอย่างยิ่งที่ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งอังกฤษเร่งเรียกร้องให้ ศัลยแพทย์และผู้ประกอบการทุกรายมีจรรยาบรรณ และซื่อตรงต่อผู้ป่วย จะได้ไม่เป็นการแก้ไขเมื่อสายไป วัวหายแล้วล้อมคอกคงไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมา ส่วนผู้บริโภคเองก็จำเป็นต้องมีความรอบคอบ และตัดสินใจทุกการกระทำของตนอย่างมีสติที่สุดด้วย

ขอบคุณที่มา www.kapook.com

 

ป้ายกำกับ:

เรื่องน่าสนใจ