ที่มา: dodeden

นายแพทย์วิศิษฎ์  ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า สุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เป็น 1 ในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นต้นเหตุโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรัง  

ที่สำคัญเช่นโรคตับแข็ง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน เส้นเลือดในสมองแตก และมีผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ทั้งร่างกาย หัวใจ และสมองของทารก  ซึ่งกรมสบส.ได้เร่งให้ความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกดื่มเหล้า  เพื่อลดหรือเลิกการเติมสิ่งที่เป็นอันตรายให้สุขภาพตนเอง

Bottle of whiskey and two whiskeys on the rocks

ผลสำรวจล่าสุดของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ในปี 2558  พบว่าประชาชนอายุ 15 -79 ปี กระจายทั้ง 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ร้อยละ 36  ดื่มสุราในรอบ 1 ปีก่อนสำรวจ  ผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิง 3-5 เท่าตัว   มีผู้ที่ดื่มหนักคือดื่มครั้งละมากกว่า 4- 5 แก้วมาตรฐานทั้งชายหญิงร้อยละ 14

พื้นที่ที่ดื่มมากที่สุดในประเทศคือ 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 7 ได้แก่ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ดื่มร้อยละ50

รองลงมาคือเขต1 ดื่มร้อยละ 49 ประกอบด้วย 8 จังหวัด คือเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา  ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน  แพร่ และน่าน   โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็วและมีผลต่อร่างกาย ยิ่งมากยิ่งรุนแรงทั้งในระยะสั้น เช่นเดินโซเซ ตาลาย และระยะยาวเช่นเป็นโรคมะเร็งตับ ตับแข็ง เป็นต้น

สำหรับผู้ที่ต้องการลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด มีคำแนะนำดังนี้ 1.ต้องตั้งใจจริง 2. ตั้งเป้าหมายว่าจะเลิกเพื่อใคร เช่น เพื่อสุขภาพของตนเอง ลูก ภรรยา พ่อแม่ ครอบครัว เป็นต้น

3.ปรับเปลี่ยนนิสัยการดื่ม เช่นผู้ที่เคยดื่มสุราเป็นประจำอาจเลิกทันทีได้ยาก ให้ลองใช้วิธีดังต่อไปนี้ ซึ่งจะทำให้ดื่มน้อยลง เช่น ดื่มสุราพร้อมกับรับประทานอาหาร หมั่นดื่มน้ำเปล่าควบคู่ไปกับการดื่มสุรา เปลี่ยนขนาดของแก้วจากแก้วใหญ่เป็นแก้วเล็ก  ดื่มเครื่องดื่มที่มีดีกรีต่ำกว่าทดแทนไปก่อนในระยะแรก

4.ตั้งเป้าหมายว่าจะลดปริมาณการดื่มให้น้อยลงไปเรื่อยๆ จนงดในที่สุด 5.หลีกเลี่ยงสถานการณ์ปัจจัยแวดล้อมความเสี่ยงที่ทำให้เราดื่มเหล้าได้ง่ายขึ้น ได้แก่ ช่วงเวลาหลังเลิกงาน วันเงินเดือนออก โอกาสพิเศษต่างๆ

การไปเที่ยวผับหรือร้านอาหาร สถานบันเทิง การชักชวนจากกลุ่มเพื่อนที่ดื่มจัด รวมถึงสาเหตุต่างๆ ที่นำไปสู่อาการเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ เศร้า เครียด ฯลฯ

6.ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมอื่นแทนการสังสรรค์ เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ทำบุญ เป็นต้น  7.ฝึกการปฏิเสธให้เด็ดขาด เช่น ถ้าเพื่อนชวนให้ดื่มสุรา ให้บอกว่าหมอห้ามดื่ม ,สัญญากับลูกไว้ ,ไม่ว่างต้องรีบไปทำธุระ เป็นต้น

8.หาที่พึ่งทางใจ รวมถึงหากำลังใจจากคนรอบข้าง เช่น พ่อแม่ คนรัก  ลูก เพื่อนสนิทหรือคนที่สามารถให้คำแนะนำดีๆ แก่เราได้

นอกจากนี้การพูดคุยหรืออ่านประสบการณ์ของคนอื่นที่เลิกดื่มสุราสำเร็จจะช่วยสร้างกำลังใจให้เราได้ หากไม่สามารถเลิกสุราได้ด้วยตนเอง ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านที่ช่วยเหลือการเลิก หรือโทรปรึกษาสายด่วนยาเสพติด สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ โทร.1165 สายด่วนเลิกเหล้า ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา โทร.1413   

thumbnail_9-11-59

เรื่องน่าสนใจ