ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

คนงานก่อสร้างเข้ารื้อถอนรูปปั้นไดโนเสาร์ภายใน “ทับเบิกฮิลล์รีสอร์ต” ที่ก่อสร้างอยู่บนภูทับเบิก ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ หลังทางจังหวัดท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกกะหล่ำปลี.

EyWwB5WU57MYnKOuXocufmQNGrZrLvFizc7m45vD429IKj5yHh5grL

เจ้าของรีสอร์ตบน “ภูทับเบิก” ยอมทุบรื้อถอนรูปปั้นไดโนเสาร์ออกแล้ว หลังทางจังหวัดท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ด้านอธิบดีกรมป่าไม้ยังเดินหน้าแก้ปัญหารุก “ภูทับเบิก” ผุดแนวคิดเข้านโยบาย คทช. ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในรูปแบบ “แปลงรวม” สกัดที่ดินเปลี่ยนมือ พร้อมแก้ระเบียบเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมฯจับกุมรุกป่าได้ “อดุลย์” กำชับ พส.เร่งบูรณาการแผนการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน หวังสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน

กรณีกรมป่าไม้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมเข้ารื้อถอนรีสอร์ตที่บุกรุก “ภูทับเบิก” ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของประเทศ หลังตรวจสอบพบว่ามีพื้นที่เดิมที่ทางกรมป่าไม้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์นำไปจัดสรรให้กับชาวไทยภูเขาเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งทำกิน แต่ภายหลังพบว่าที่ดินบางส่วนตกอยู่ในมือของกลุ่มนายทุนนำไปก่อสร้างเป็นรีสอร์ตมากถึง 57 แห่ง กระจัดกระจายอยู่บนภูทับเบิก โดยในจำนวนนี้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ครอบครองและบริวารออกจากพื้นที่จำนวน 10 แห่งแล้วนั้น

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 16 ต.ค. นายไกรสร กองฉลาด รอง ผวจ.เพชรบูรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางไปตรวจสอบการก่อสร้างรีสอร์ตบนภูทับเบิก หมู่ 14 ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เพื่อแจ้งเตือนผู้ประกอบการถึงการปลูกสร้างรีสอร์ตและรูปปั้นไดโนเสาร์ที่ดูไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม หลังจากที่นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผวจ.เพชรบูรณ์ ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงปัญหาการปลูกสร้างรีสอร์ตจำนวนมากเกินไปบนภูทับเบิกจนบดบังทัศนียภาพความสวยงามทางธรรมชาติ การซื้อขายเปลี่ยนมือของนายทุนและบุกรุกพื้นที่ รวมถึงราคาอาหารที่พักรีสอร์ตของฝากของที่ระลึกมีราคาสูงเกินจริง และปัญหาการกำจัดขยะ เมื่อวันก่อน โดยเฉพาะการก่อสร้างรูปปั้นไดโนเสาร์ เห็นว่าพื้นที่ภูทับเบิกมีเอกลักษณ์คือการปลูกกะหล่ำปลี น่าจะก่อสร้างรูปปั้นกะหล่ำปลีแทนไดโนเสาร์จะเหมาะสมและมีเอกลักษณ์มากกว่านี้

EyWwB5WU57MYnKOuXocufjZDpxbHq76HqsNHpgCU3qNXe32WCfYwdd

เมื่อเดินทางไปถึง เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบจุดที่มีการก่อสร้างไดโนเสาร์อยู่ที่บริเวณด้านหน้าของ “ทับเบิกฮิลล์รีสอร์ต” เป็นไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ความสูงร่วม 10 เมตร ลักษณะการก่อสร้างเป็นท่ายืนคร่อมแทนหลังคาห้องพัก พบว่ามีคนงานก่อสร้างกำลังทุบรื้อรูปปั้นไดโนเสาร์ออก

ระหว่างนั้น ได้มี น.ส.ณัฐสุดา ก้อนเทียน อายุ 26 ปี เจ้าของรีสอร์ต เข้ามาพบเจ้าหน้าที่ชี้แจงให้ทราบว่า รีสอร์ตแห่งนี้เป็นของมารดา นายไกรสรจึงแนะนำว่าสาเหตุที่ทางจังหวัดต้องการให้มีการรื้อถอนไดโนเสาร์ออกเพื่อต้องการให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ในขณะที่ น.ส.ณัฐสุดากล่าวว่า เดิมทีตนก็ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างไดโนเสาร์ แต่ไม่อยากขัดใจแม่ เมื่อทราบว่าทางจังหวัดไม่เห็นด้วยจึงให้คนงานเข้ามาทุบรื้อออกตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว จากนั้นนายไกรสรได้นำหนังสือยินยอมให้ความร่วมมือในการรื้อทุบรูปปั้นไดโนเสาร์ รวมถึงการจัดระเบียบภูทับเบิกมาให้ น.ส.ณัฐสุดา อ่าน ก่อนลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน

ทางด้านนายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ภูทับเบิก ว่า หลังจากได้หารือร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้ง 2 หน่วยงานจะเข้าไปร่วมกันจัดระเบียบพื้นที่ภูทับเบิก ตนขอย้ำว่าพื้นที่ 4.7 หมื่นไร่ ที่กรมป่าไม้ได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์ไปดำเนินการจัดสรรให้กับราษฎรนั้น จะกลายเป็นโฮมสเตย์ทั้งหมดคงไม่ได้ ต้องมีการจัดทำแผนแม่บทการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้

ทั้งนี้ ได้มีการหารือร่วมกันถึงแนวคิดการนำพื้นที่ภูทับเบิกเข้าสู่กระบวน การจัดสรรที่ทำกินให้แก่ราษฎรที่ยากจนตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ของรัฐบาล การอนุญาต ใช้ประโยชน์พื้นที่เพียงอย่างเดียวทำให้เกิดปัญหาขึ้น จึงมีแนวคิดนำพื้นที่มาจัดสรรที่ดินในลักษณะให้ชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของ เพื่อไม่ให้เกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดิน กรมพัฒนาสังคมฯก็เห็นด้วยและจะนำเข้าสู่ที่ประชุม คทช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป

นายชลธิศกล่าวต่อว่า ในการเข้าตรวจสอบพื้นที่วันที่ 22 ต.ค.นี้ จะมีการสำรวจการใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งหมด รวมทั้งตรวจสอบการใช้ประโยชน์ว่ามีพื้นที่เกินกว่าที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการหรือไม่ โดยจะนำพื้นที่เกินเหล่านี้มาจัดสรรใหม่ให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในรูปแปลงรวม เรื่องนี้ยืนยันว่าไม่กระทบกับราษฎรที่ทำกินอยู่เดิม แต่ถ้าเป็นนายทุนจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย แม้กรมป่าไม้จะอนุญาตให้กรมพัฒนาสังคมฯ ใช้ประโยชน์ แต่พื้นที่ก็ยังเป็นของกรมป่าไม้อยู่ และเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปจับกุมดำเนินคดีในพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ผิดเงื่อนไขได้ ทั้งนี้ จะแก้ระเบียบเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมฯ เป็นเจ้าพนักงานตาม กฎหมายป่าไม้ เพื่อให้สามารถร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายทุนที่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ด้วย

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงกรณีการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ภูทับเบิกว่า ได้กำชับให้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จัดทำแผนการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย และกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยต้องเตรียมแผนการรองรับผลกระทบและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนในพื้นที่

เรื่องน่าสนใจ